ข้อเสียของการใช้โซเชียลมีเดียมากเกินไป

พฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทยพุ่งสูงมากกว่า 9 ชั่วโมงต่อวัน โดยช่วงอายุผู้ใช้งานมีตั้งแต่วัยอนุบาลถึงวัยผู้สูงอายุซึ่งผู้ใช้ส่วนใหญ่ใช้อินเทอร์เน็ตในการสื่อสารและรับรู้ข่าวสารความเคลื่อนไหวของคนที่ตัวเองเป็นเพื่อนหรือติดตาม ทุกคนในโลกออนไลน์ต่างแสดงตัวตนส่วนหนึ่งออกมาให้ผู้คนได้รับรู้และเป็นพยาน การเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวและกิจกรรมส่วนตัวที่ทำในโลกออนไลน์ถือเป็นเรื่องปกติ ผู้คนมักจะแชร์กิจกรรมที่ตัวเองประทับใจ ของที่ตัวเองซื้อมา รีวิวสินค้าต่างๆมากมาย ทั้งเครื่องสำอาง โทรศัพท์ อุปกรณ์ไอที กล้องถ่ายรูป จนหลายครั้งกลายเป็นการแข่งขันกันในหมู่เพื่อน หากสถิติการใช้อินเทอร์เน็ตในการสื่อสารและการรับรู้ความเคลื่อนไหวของคนอื่นในประชาชนไทยมีตัวเลขพุ่งสูงขนาดนี้ ปริมาณในการใช้สื่อสังคมออนไลน์จะส่งผลเสียอย่างไรบ้าง

  1. การเฝ้ามองคนในสื่อโซเชียลออนไลน์ บีบบังคับให้เราโฟกัสในสิ่งที่เราไม่มี ในกิจกรรมที่เราไม่ได้ทำ ในเสื้อผ้าที่เราไม่ได้ใส่ ในปาร์ตี้ที่เราไม่ได้ไป มันเป็นการเฝ้ามองพฤติกรรมคนอื่นโดยนำมาซึ่งการเทียบเปรียบกับชีวิตตัวเองอย่างไม่รู้ตัว มันเป็นการโฟกัสในสิ่งที่เราขาด
  2. อาจจะตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ ก่อนที่อินเทอร์เน็ตจะถือกำเนิดขึ้น หากใครคนใดคนหนึ่งต้องการกลั่นแกล้งคนอื่น จะต้องทำต่อหน้าหรือออกแรงเพื่อกระทำบางอย่าง แต่ด้วยการเข้าถึงซึ่งกันและกันได้ง่ายขึ้น การกลั่นแกล้งเลยทำได้ง่ายขึ้นและแผ่วงกว้างได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพียงแค่ยกมือถือขึ้นมาก็สามารถโพสข้อความเพื่อกลั่นแกล้งคนอื่นได้ทันที หลายครั้งผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตพิมพ์ด่าไล่ให้คนที่มีความคิดเห็นต่างจากตัวเองไปตาย แคปหน้าจอไปประจานเพื่อความสะใจและความขบขัน หากผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งไม่มีภูมิคุ้นกันที่ดีอาจจะนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้
  3. เกิดความหวาดกลัวว่าจะตามคนอื่นไม่ทัน ประโยคยอดฮิตที่พูดกันอย่างติดปากคือ เดี๋ยวตามเค้าไม่ทัน เดี๋ยวคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง ทำให้หลายคนกระหายในการใช้โซเชียลมีเดีย มีโทรศัพท์ไว้ในมืออยู่ตลอดเวลา ติดตามทุกประเด็นร้อนในสังคม โดยปราศจากการตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราจะรู้เรื่องราวทั้งหมดนั้นไปทำไม ในเมื่อมันไม่ได้ทำให้เรารวยขึ้น ไม่ได้ทำให้เรามีความรู้มากขึ้น ไม่ได้ทำให้เรามีความสุขมากขึ้น
  4. แสงสีฟ้าที่ส่องสว่างออกจากหน้าจอโทรศัพท์ทำให้กระจกตาเสื่อมเร็วขึ้น มองเห็นได้ไม่ชัด โดยมีสถิติว่าผู้ใช้งานอินเตอร์เนตส่วนใหญ่ยังใช้งานโทรศัพท์ก่อนนอนหลังจากที่ดับไฟในห้องแล้วซึ่งทำให้กระจกตาได้รับผลกระทบ ทั้งผู้เชี่ยวชาญเองออกมาบอกว่ายังไม่มีทางรักษากระจกตาเสื่อมที่เกิดจากแสงสีฟ้าได้
  5. เกิดความคาดหวังที่ไม่ยึดตามหลักความจริงทั้งในเรื่องของความสัมพันธ์และการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เมื่อเป็นสื่อโซเชียลทุกคนที่มีสิทธิเข้าถึงย้อมมีสิทธิในการคัดเลือกเรื่องราวที่ตัวเองอยากนำเสนอ ซึ่งมันคือมุมๆ หนึ่งเท่านั้น ผู้คนส่วนใหญ่มักจะหันด้านที่ดีที่สุด มีความสุขที่สุด น่าอิจฉาที่สุด หรือแม้กระทั่งน่าสงสารที่สุด น่าเห็นใจที่สุดออกสู่สังคมโซเชียลเสมอ ทั้งไม่ว่าจะค้นหาอะไรในอินเทอร์เน็ต ก็จะมีคนที่เก่งมากๆ เต็มไปหมด การใช้เวลาติดตามเรื่องราวเหล่านั้นเป็นระยะเวลาที่ยาวนานและสม่ำเสมอ ทำให้เกิดภาพว่าเรื่องราวทุกอย่างจะต้องที่สุด จะต้องเยอะ จะต้องมากมาย

แม้ว่าการใช้งานอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียจะทำให้การสื่อสารเป็นเรื่องที่ง่ายดายมากขึ้น ทำให้รับรู้ข่าวสารได้ทันท่วงทีและสามารถติดต่อกับเพื่อน ครอบครัวและคนรักที่อยู่ห่างไกลกันได้ แต่ไม่ว่าสิ่งใดหากใช้ในแง่ของปริมาณที่มากเกินไปย่อมมีข้อเสียต่อผู้ใช้งานตามมาเสมอ การสังเกตพฤติกรรมการใช้งานของตัวเองและรู้เท่าทันข้อเสียของสิ่งที่ตัวเองใช้งานอยู่เป็นประจำทุกวันย่อมดีกว่า

อินเตอร์เน็ตให้เราได้รับประโยชน์อะไรบ้าง ในยุคแห่งการสื่อสารที่ไร้พรมแดน

ในโลกยุคดิจิตอลนั้นปฎิเสธไม่ได้ว่าอินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการใช้ชีวิต เพราะในทุกวันนั้นคนยุคใหม่จะใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อเป็นการสื่อสารกับบุคคลภายนอกมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญบางคนนั้นเพียงแค่มีอินเตอร์เน็ต พวกเขาสามารถอยู่ได้แต่ภายในบ้านหรือสถานที่ทำงาน และติดต่อไปยังผู้คนหรือองค์กรใหญ่ทั่วโลกได้เพียงแค่เสี้ยววินาที ซึ่งในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมานั้น กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้เปิดเผยว่าประเทศไทยมีไฟเขียวให้ต่างชาติเข้ามาทำการตลาดดาวเทียมเสรีในประเทศไทย ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นอย่างมาก และประโยชน์ของการติดต่อสื่อสารผ่านทางโลกออนไลน์อย่างอินเตอร์เน็ตนั้นมีมากมายดังจะกล่าวต่อไปนี้คือ

  1. ติดต่อสื่อสารกับใครก็ได้ในโลกที่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตเชื่อมต่อถึงกัน ซึ่งไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนทั่วทุกมุมโลกก็สามารถติดต่อกับใครก็ได้ที่คุณต้องการ หากคุณมีข้อมูลการติดต่อของเขาเหล่านั้นที่อยู่บนโลกอินเตอร์เน็ตด้วยกัน อาจเป็นการติดต่อผ่านทางแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่คนสมัยนี้นิยมใช้สื่อสารและติดต่อกันมากกว่าการใช้โทรศัพท์ไปแล้ว หรือผ่านการวิดีโอคอลหาบุคคลที่คุณต้องการพูดคุยด้วยก็เป็นไปได้ ซึ่งเป็นที่น่าประหลาดใจมากที่เทคโนโลยีสมัยนี้ได้ก้าวหน้าไปอย่างมาก จนทำให้คนที่อยู่คนละมุมโลกกันนั้นสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติกันได้ อีกทั้งยังเห็นหน้าค่าตากันได้เพียงแค่กดคลิกที่ปลายนิ้ว
  2. ค้นหาข้อมูลทั่วไปได้ ซึ่งแน่นอนว่าการที่โลกได้เปลี่ยนไปอย่างไม่อาจหยุดยั้งนั้น การหาข้อมูลในสมัยนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน ซึ่งเนื่องจากในสมัยก่อนหากเราต้องการรู้เรื่องอะไรสักหนึ่งอย่างจำเป็นที่จะต้องไปห้องสมุดเพื่อหาหนังสือมาอ่านสักเล่ม หรือหากห้องสมุดที่ไปนั้นยังมีข้อมูลไม่เพียงพอก็ต้องดั้นด้นไปหาที่ห้องสมุดอื่น จนทำให้ต้องเสียเวลาในการเดินทางและการค้นหาที่ยาวนาน แต่ในปัจจุบันนี้มีแอปพลิเคชันและเว็บไซต์มากมายที่คอยช่วยเหลือในการค้นหาข้อมูลทั่วไป เพียงแค่กดคลิกไปที่คำถามที่ต้องการก็จะปรากฏทั้งเนื้อหาข้อมูล รูปภาพ บางเว็บไซต์อาจมีคลิปวิดีโอให้ด้วย ซึ่งนับว่าเป็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตโลกเลยก็ว่าได้ ซึ่งข้อมูลที่เราต้องการหานั้นไม่ได้มีเพียงอยู่แค่ภายในประเทศไทยเท่านั้น แต่เราสามารถรู้ข้อมูลรอบโลกได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง
  3. ค้นหารูปภาพและภาพเคลื่อนไหวได้ ซึ่งนอกจากข้อมูลที่ต้องการจะหาแล้วนั้นอินเตอร์เน็ตยังสามารถให้เราค้นหารูปภาพและภาพวิดีโอได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาพอะไรเพียงแค่พิมพ์เข้าไปก็สามารถนำรูปภาพนั้นไปใช้ได้ แต่ทั้งนี้ต้องดูด้วยว่าติดเป็นลิขสิทธิ์ของผู้ถ่ายรูปอยู่ไหม ซึ่งควรให้เครดิตภาพของผู้ถ่ายไว้ด้วยหากต้องการนำไปใช้
  4. ให้ความรู้สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาเรื่องต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันนั้นอินเตอร์เน็ตสามารถกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ที่สำคัญได้แม้กระทั่งตามหาวิทยาลัยชั้นนำต่าง ๆ ของโลก ยังได้มีการเปิดสอนให้มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์มากขึ้น เพื่อเป็นการติดต่อสื่อสารระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์

และนี่เป็นเพียงประโยชน์ที่เราจะได้รับจากการมีอินเตอร์เน็ตในยุคแห่งการสื่อสารในปัจจุบันเท่านั้น ซึ่งต่อไปในอนาคตอาจมีลูกเล่นอะไรใหม่ ๆ มาให้เราได้ลองและนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกมากมาย ซึ่งนับว่าโลกของเราได้มีการพัฒนาไปสู่จุดที่การสื่อสารไร้พรมแดน และไร้ขีดจำกัดแล้วอย่างจริงจัง

เมื่อเทคโนโลยีถูกใช้ผิดทาง กลายเป็นปมบาดหมางสร้างความขัดแย้งข้ามประเทศ

                เป็นที่ทราบกันดีว่าเทคโนโลยีหลายแขนงถูกสร้างมาเพื่อให้ชีวิตเราง่ายขึ้น เชื่อมต่อโลกในภูมิภาคต่าง ๆ ให้แคบลงทำให้ผู้คนได้มีโอกาสเห็นมุมมองที่แปลกใหม่จากดินแดนอื่นที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เทคโนโลยีทำให้ผู้คนที่อยู่ไกลกันได้ใกล้กันมากขึ้น ซึ่งคุณประโยชน์ของเทคโนโลยีสมัยใหม่นั้นมีมากมายจนไม่สามารถอภิปรายได้หมด

แต่ในทางกลับกันเหรียญนั้นมี 2 ด้าน เทคโนโลยีก็เช่นกัน ทั้งหมดทั้งมวลล้วนขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่าใช้ในทางใด โดยเฉพาะกับคนที่นำเทคโนโลยีไปใช้ในทางที่ผิดทำให้ผลร้ายกระจายออกสู่สังคมในวงกว้างดังเช่นข่าวต่อไปนี้

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2555 ได้มีการบุกทำลายและเผาสถานทูตของสหรัฐอเมริกาหลายแห่งทั่วโลก ส่งผลให้เอกอัครราชทูตอเมริกาประจำลิเบียต้องเสียชีวิตพร้อมกับเจ้าหน้าที่อีก 3 คน เนื่องจากผู้กำกับหนังชาวอเมริกันผู้ไม่เปิดเผยนามได้สร้างหนังประเภทศาสนาชื่อว่า “อินโนเซนส์ ออฟ มุสลิม” ซึ่งเป็นหนังที่ชาวมุสลิมทั่วโลกให้การวิจารณ์เป็นเสียงเดียวกันว่าหนังเรื่องนี้หมิ่นต่อศาสดาโมฮัมหมัดของพวกเขา การส่งต่อคลิปบางส่วนจากหนังผ่านสังคมออนไลน์ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจนชาวมุสลิมทั่วโลกออกมาเดินประท้วงเพื่อเรียกร้องให้นำตัวคนทำหนังมาลงโทษและขอให้ทำลายหนังเรื่องนี้ทิ้ง ซึ่งทางการสหรัฐอเมริกาเองก็ไม่ได้นิ่งดูดายโดยได้ทำเรื่องไปทาง Google และ YouTube เพื่อให้ถอดหนังดังกล่าวออกจากคลังการค้นหาแต่ก็ไม่เป็นผล ส่งผลให้หนังและคลิปจากหนังบางส่วนถูกส่งต่อผ่าน Social Network ไปทั่วโลก จนชาวมุสลิมลุกฮือออกมาประท้วงกันที่หน้าสถานทูตสหรัฐประจำประเทศของตนและได้ลุกลามไปถึง 26 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งอียิปต์ ตูนีเซีย เลบานอน เยเมน ซูดาน ออสเตรเลีย อินโดนีเซียและมาเลเซีย แต่ที่รุนแรงที่สุดอยู่ใน 3 ประเทศคือซูดาน อียิปต์และตูนีเซีย

สำหรับในเมืองไทยกรณีเช่นนี้ก็เคยเกิดขึ้นเมื่อต้นปีที่ผ่านเมื่อ โต อดีตนักร้องนำวงซิลลี่ฟูลซึ่งปัจจุบันนับถือศาสนาอิสลามได้ออกมาแสดงความคิดเห็นทางศาสนาผ่าน Social Media ว่าพระพุทธรูปเป็นเพียงแค่ปูนปั้นที่แตกได้ และไม่ได้มีสิ่งศักดิ์อยู่ในนั้นเพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือพระเจ้าที่ประเมินค่าไม่ได้และไม่สามารถไปสถิตอยู่ที่ใดได้ เนื่องจากพระองค์มีความยิ่งใหญ่กว่าสิ่งทั้งปวงในโลกนี้ หลังจากความเห็นของเขาถูกเผยแพร่ทำให้ชาวไทยส่วนใหญ่ผู้นับถือศาสนาพุทธออกมาวิจารณ์กันอย่างหนักหน่วง ส่งผลให้โตต้องออกมาชี้แจงและขอโทษผ่านรายการข่าวในช่องโทรทัศน์

การแชร์หรือส่งต่อสิ่งที่กำลังเป็นกระแสในสังคมนั้น คนแชร์ควรพิจารณาก่อนว่าเป็นสิ่งที่ล่อแหลมหรือยั่วยุทางอารมณ์จนสร้างความร้าวฉานต่อผู้พบเห็นหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นละเอียดอ่อนอย่างศาสนาซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะอาจทำให้เสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินจากความคะนองของผู้คนก็เป็นได้ ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีที่ดีควรหลีกเลี่ยงการเป็นสาเหตุของความร้าวฉานแต่ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้คนในวงกว้างจะดีกว่า

 

บัญชีโซเชียลมีเดีย กับการตั้งรหัสผ่านเพื่อความปลอดภัยสุงสุด

                โซเชียลมีเดียต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook Twitter Instagram Youtube ร่วมไปถึง E-mail  ที่จะต้องตั้งรหัสผ่าน ควบคู่กับชื่อบัญชี ควรจะต้องระมัดระวังให้ดี เพราะชื่อผู้ใช้ถูกเปิดเผยให้คนทั่วไปเห็นอยู่แล้ว เมื่อติดต่อกับบัญชีของคุณ สิ่งที่คุณควรเก็บไว้เป็นความลับคือรหัสผ่าน และการตั้งรหัสผ่านของคุณควรจะเป็นรหัสผ่านที่คาดเดายาก ไกลตัวคุณ เพราะหากมีมือดีหรือผู้ประสงค์ร้าย ต้องการใช้ชื่อของคุณในทางที่ผิด หรือเข้ามาล้วงข้อมูลลับของคุณ พวกเขาเหล่านั้นสามารถทำได้ง่าย หากคุณตั้งรหัสผ่านที่สามารถคาดเดาได้ง่ายนั่นเอง

กลุ่มรหัสผ่านที่ไม่ควรนำมาใช้ในการตั้งรหัสผ่านคือ

ชุดตัวเลขเรียงกัน เช่น “1234” “5678” ชุดตัวเลขเดิมซ้ำ ๆ กัน เช่น “0000” “9999” “1111” หรือจะเป็นตัวอักษรเรียงกัน เช่น “abcd” “wxyz” กลุ่มคำที่สามารถคาดเดาได้ง่าย เช่น “password” “pass” “password1234”

กลุ่มรหัสผ่านที่เป็นข้อมูลของคุณ ที่สามารถค้นหาได้โดยง่าย เช่น วันเดือนปีเกิด ค.ศ.หรือพ.ศ.ที่คุณเกิด เลขท้ายเบอร์โทรศัพท์ ชื่อเล่น ชื่อจริง เป็นต้น เพราะข้อมูลชุดนี้ผู้คนส่วนใหญ่มักจะรู้จากตัวคุณเองได้ง่ายเกินไป เช่น หากคุณใช้ Facebook และตั้งเปิดเผยวันเดือนปีเกิดในระบบ แล้วนำวันเดือนปีเกิดมาตั้งเป็นรหัสผ่าน ก็ยิ่งทำให้ผู้ประสงค์ร้ายสามารถเข้ามาปลอมแปลงเป็นตัวคุณ หรือเข้ามาโพสข้อความทำร้ายคุณได้อย่างง่าย ๆ นั้นเอง

ป้องกันผู้ประสงค์ร้าย เข้ามาล้วงข้อมูลลับได้ด้วยการตั้งรหัสผ่านที่ถูกต้อง

                หากตั้งรหัสผ่านโซเชียลมีเดียควรตั้งรหัสผ่านที่มี ตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวพิมพ์เล็ก (a – z) ตัวพิมพ์ใหญ่ (A – Z) ตัวเลข (0 – 9) สัญลักษณ์ (!@#$%^&*()_+|~-=\`{}[]:”;'<>?,./)  ผสมกัน โดยมีความยาวเกิน 8 ตัวขึ้นไป และหากยิ่งยาวจะยิ่งคาดเดาได้ยาก ตัวอย่างเช่น “p@ssWorc!2234” “Pa$$_4975” เป็นต้น

ควรเปลี่ยนรหัสทุก ๆ 6 เดือน แต่ก็ควรระวังว่าจะลืมรหัสผ่าน จนไม่สามารถเข้าใช้งานได้เอง ตรวจสอบสถานะการเข้าบัญชีเป็นประจำ ว่ามีคนอื่น หรือมีการเข้าถึงจากอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ของเราหรือไม่ หากเป็นไปได้รหัสในแต่ละโซเชียลควรเป็นรหัสที่แตกต่างหาก แต่หากมั่นใจในความยากของรหัสแล้วก็อาจจะใช้รหัสชุดเดียวกันก็ได้

อีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้ใคร ควรเก็บอีเมล์ที่ใช้ในการสมัคร Facebook Twitter Instagram หรือโซเชียลอื่น ๆ แยกจากอีเมล์ที่เปิดเผยในสาธารณะ เพราะหากอีเมล์นั้น ๆ โดนมือดีเข้าถึงได้ นั้นหมายความว่าทุกโซเชียลที่เราสร้างไว้มือดีจะสามารถเข้าถึงได้ทั้งหมด

สังคมในยุคปัจจุบัน เป็นสังคมยุคโซเชียลมีเดีย เหมือนมีทุกคนสื่อในมือ สามารถจะพูดจะแสดงความคิดเห็นอะไรก็ได้ แต่หากมีผู้ประสงค์ร้ายเข้าระบบของเราได้ แล้วโพสข้อความที่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือไปหลอกขอข้อมูลสำคัญจากคนใกล้ ๆ ตัวเราเพื่อนำข้อมูลไปประกอบธุรกรรมผิดกฎหมาย ยิ่งเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากเท่าไหร่ ในบางครั้งข้อมูลเหล่านั้นอาจเป็นภัยมืดมาทำร้ายตัวเราเองได้ในอนาคต