เมื่อเทคโนโลยีถูกใช้ผิดทาง กลายเป็นปมบาดหมางสร้างความขัดแย้งข้ามประเทศ

                เป็นที่ทราบกันดีว่าเทคโนโลยีหลายแขนงถูกสร้างมาเพื่อให้ชีวิตเราง่ายขึ้น เชื่อมต่อโลกในภูมิภาคต่าง ๆ ให้แคบลงทำให้ผู้คนได้มีโอกาสเห็นมุมมองที่แปลกใหม่จากดินแดนอื่นที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เทคโนโลยีทำให้ผู้คนที่อยู่ไกลกันได้ใกล้กันมากขึ้น ซึ่งคุณประโยชน์ของเทคโนโลยีสมัยใหม่นั้นมีมากมายจนไม่สามารถอภิปรายได้หมด

แต่ในทางกลับกันเหรียญนั้นมี 2 ด้าน เทคโนโลยีก็เช่นกัน ทั้งหมดทั้งมวลล้วนขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่าใช้ในทางใด โดยเฉพาะกับคนที่นำเทคโนโลยีไปใช้ในทางที่ผิดทำให้ผลร้ายกระจายออกสู่สังคมในวงกว้างดังเช่นข่าวต่อไปนี้

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2555 ได้มีการบุกทำลายและเผาสถานทูตของสหรัฐอเมริกาหลายแห่งทั่วโลก ส่งผลให้เอกอัครราชทูตอเมริกาประจำลิเบียต้องเสียชีวิตพร้อมกับเจ้าหน้าที่อีก 3 คน เนื่องจากผู้กำกับหนังชาวอเมริกันผู้ไม่เปิดเผยนามได้สร้างหนังประเภทศาสนาชื่อว่า “อินโนเซนส์ ออฟ มุสลิม” ซึ่งเป็นหนังที่ชาวมุสลิมทั่วโลกให้การวิจารณ์เป็นเสียงเดียวกันว่าหนังเรื่องนี้หมิ่นต่อศาสดาโมฮัมหมัดของพวกเขา การส่งต่อคลิปบางส่วนจากหนังผ่านสังคมออนไลน์ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจนชาวมุสลิมทั่วโลกออกมาเดินประท้วงเพื่อเรียกร้องให้นำตัวคนทำหนังมาลงโทษและขอให้ทำลายหนังเรื่องนี้ทิ้ง ซึ่งทางการสหรัฐอเมริกาเองก็ไม่ได้นิ่งดูดายโดยได้ทำเรื่องไปทาง Google และ YouTube เพื่อให้ถอดหนังดังกล่าวออกจากคลังการค้นหาแต่ก็ไม่เป็นผล ส่งผลให้หนังและคลิปจากหนังบางส่วนถูกส่งต่อผ่าน Social Network ไปทั่วโลก จนชาวมุสลิมลุกฮือออกมาประท้วงกันที่หน้าสถานทูตสหรัฐประจำประเทศของตนและได้ลุกลามไปถึง 26 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งอียิปต์ ตูนีเซีย เลบานอน เยเมน ซูดาน ออสเตรเลีย อินโดนีเซียและมาเลเซีย แต่ที่รุนแรงที่สุดอยู่ใน 3 ประเทศคือซูดาน อียิปต์และตูนีเซีย

สำหรับในเมืองไทยกรณีเช่นนี้ก็เคยเกิดขึ้นเมื่อต้นปีที่ผ่านเมื่อ โต อดีตนักร้องนำวงซิลลี่ฟูลซึ่งปัจจุบันนับถือศาสนาอิสลามได้ออกมาแสดงความคิดเห็นทางศาสนาผ่าน Social Media ว่าพระพุทธรูปเป็นเพียงแค่ปูนปั้นที่แตกได้ และไม่ได้มีสิ่งศักดิ์อยู่ในนั้นเพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือพระเจ้าที่ประเมินค่าไม่ได้และไม่สามารถไปสถิตอยู่ที่ใดได้ เนื่องจากพระองค์มีความยิ่งใหญ่กว่าสิ่งทั้งปวงในโลกนี้ หลังจากความเห็นของเขาถูกเผยแพร่ทำให้ชาวไทยส่วนใหญ่ผู้นับถือศาสนาพุทธออกมาวิจารณ์กันอย่างหนักหน่วง ส่งผลให้โตต้องออกมาชี้แจงและขอโทษผ่านรายการข่าวในช่องโทรทัศน์

การแชร์หรือส่งต่อสิ่งที่กำลังเป็นกระแสในสังคมนั้น คนแชร์ควรพิจารณาก่อนว่าเป็นสิ่งที่ล่อแหลมหรือยั่วยุทางอารมณ์จนสร้างความร้าวฉานต่อผู้พบเห็นหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นละเอียดอ่อนอย่างศาสนาซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะอาจทำให้เสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินจากความคะนองของผู้คนก็เป็นได้ ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีที่ดีควรหลีกเลี่ยงการเป็นสาเหตุของความร้าวฉานแต่ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้คนในวงกว้างจะดีกว่า