กลับสู่ตลาดแรงงานอีกครั้ง ค่านิยมใหม่ของคนไทยรุ่นใหญ่วัยเกษียณ สุขใจไม่ไร้ค่า

นับว่าเป็นอีกปัญหาใหญ่ที่หลายประเทศกำลังประสบคือปัญหาการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรวัยเกษียณ ทำให้รัฐต้องสร้างนโยบายใหม่ ๆ เพื่อรองรับผู้สูงอายุเหล่านี้ให้สามารถอยู่ได้โดยไม่กระทบต่อลูกหลาน นอกจากนี้ยังมีเงินเกษียณจากบริษัทที่ตนเคยสังกัดอยู่สำหรับค่าครองชีพในวันที่หยุดทำงาน แต่ทว่าหลายคนได้นำเงินในอนาคตก้อนนี้ไปใช้ในการหักล้างหนี้ที่เคยได้ก่อเอาไว้ ส่งผลให้เงินใช้จ่ายประจำวันต้องลดน้อยลงไปและในที่สุดกลายเป็นภาระของลูกหลาน ซึ่งสิ่งที่รัฐควรจะสนับสนุนนั้นไม่ใช่การแจกเงินก้อนใหญ่แต่เป็นการสร้างอาชีพให้รุ่นใหญ่วัยเกษียณผู้ยังไม่หมดไฟได้มีเส้นทางรายได้และเห็นคุณค่าของตัวเองไม่ตกอยู่ในสภาวะเครียดหรือซึมเศร้า

เมื่อเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้จัดตั้งศูนย์ลงทะเบียนสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการมีอาชีพ โดยมีผู้ลงทะเบียนกว่า 1,400 ราย และตำแหน่งงานว่างถึง 700 กว่าตำแหน่งทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน และมีผู้ได้บรรจุเข้าทำงานเป็นพนักงานประจำจำนวน 141 ราย สำหรับผู้ลงทะเบียนนั้นจะต้องเป็นผู้ที่เกษียณแล้วและมีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าอนุปริญญา ส่วนรายได้จากการทำงานคิดเป็นรายชั่วโมง ชั่วโมงละ 250 บาทและต้องทำงานให้ได้วันละ 3 ชั่วโมง ซึ่งอาชีพที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคืองานด้านการผลิต รองลงมาคืองานบริการ พนักงานธุรการ และนักแนะแนวสายต่าง ๆ

สำหรับปีนี้ทางภาครัฐก็ได้จัดกิจกรรมเพื่อผู้สูงอายุที่มีความสนใจต่อการสร้างอาชีพอีกเช่นกัน โดยกระทรวงพาณิชย์ได้จัดอบรมหลักสูตรการทำกาแฟเพื่อวัยเกษียณผู้ที่สนใจเรียนรู้เรื่องการเป็นบาริสต้ามืออาชีพ ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจจำนวนกว่า 200 ราย ซึ่งผู้สนใจทั้งหมดนั้นมีอายุมากกว่า 60 ปี ภายในงานได้มีการจัดอบรมจากนักธุรกิจด้านกาแฟระดับ World Class ตั้งแต่วิธีการคั่วบดและชงกาแฟ ไปจนถึงการทำ Latte Art นอกจากนี้ยังมีการอบรมเรื่องการทำธุรกิจกาแฟให้กับผู้ที่มีความสนใจนำความรู้ที่ได้รับไปสานต่อเพื่อสร้างธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ โดยการอบรมนั้นมีตั้งแต่เทคนิคการบริหารงาน บริหารคน การจัดการ ไปจนถึงการทำความสะอาด นับว่าเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้สูงอายุที่มีความสนใจในอาชีพนี้ไม่ว่าจะเป็นการเป็นบาริสต้าหรือการสร้างธุรกิจกาแฟเป็นของตัวเอง

ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการสร้างนโยบายเพื่อให้ผู้คนอยู่ได้อย่างไม่ขัดสนนั้นไม่ใช่การแจกเงินแต่เป็นการสร้างอาชีพให้พวกเขาได้ฝึกทักษะและนำความสามารถนี้ไปใช้ให้เกิดรายได้ต่อการครองชีพของตนเอง สำหรับผู้สูงอายุแล้วการมีอาชีพรองรับในยามเกษียณไม่ใช่เพื่อรายได้เท่านั้นแต่ยังหมายถึงการสร้างคุณค่าให้ตัวเองถึงแม้จะอยู่ในวัยไม้ใกล้ฝั่ง นอกจากนี้ยังได้พบปะผู้คนพร้อมเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ เพื่อที่จะไม่รู้สึกเบื่อหน่ายชีวิตจนกลายเป็นโรคซึมเศร้า เป็นการสร้างความสุขในใจได้อย่างแท้จริง