ต้องทำใจอย่างไร เมื่อต้องสูญเสียคนที่รักไป

เรื่องที่เกิดขึ้นเราไม่สามารถกำหนดหรือควบคุมได้ เพียงแต่สิ่งที่สำคัญคือ เราจะอยู่กับมันอย่างไร เราจะจัดการกับตัวเองอย่างไรเพื่อให้สามารถผ่านพ้นมันไปได้และเติบโตขึ้น เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น

  1. ยอมรับความจริงให้ได้ ความจริงยังไงก็คือความจริง เราไม่สามารถควบคุมความคิด ความรู้สึกของคนอื่นได้ สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็คือเกิดขึ้นแล้ว การต่อต้านความจริง การพยายามปฏิเสธความจริงจะทำให้กระบวนการเยียวยาจิตใจของเราเองใช้ระยะเวลานานขึ้น เหมือนเวลาที่รถเราเสีย เช่น ถ้าเราไม่ยอมรับความจริงว่ารถเราเสีย เราย่อมไม่เอารถเราไปซ่อมที่ร้านซ่อมรถ ปัญหาก็จะไม่ได้รับการแก้ไข รถเราก็จะเสียอยู่อย่างนั้นยิ่งใช้รถที่เสียต่อไปรถก็ยิ่งจะเสื่อมเร็วมากขึ้น
  2. ยอมรับว่าความเจ็บปวดมันจะไม่หายไปภายในพริบตา หนึ่งในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเมื่อหลาย ๆ คนอกหักคือ เขาต้องการให้ความเจ็บปวดที่ตัวเองได้รับหายไปในทันที ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันไม่สามารถเป็นอย่างนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างมีเวลาของมัน เหมือนเวลาที่เราโดนมีดบาดนิ้วแผลไม่สามารถหายไปได้ในพริบตา แผลไม่สามารถหายได้ใน 1 นาที พอเป็นเรื่องเจ็บปวดทางกายเราเข้าใจได้พอเป็นเรื่องเจ็บปวดทางใจหลายคนไม่ได้ตระหนักในข้อนี้และโฟกัสอยู่ที่ความเจ็บปวดที่ตัวเองได้รับ
  3. เขียนทุกย่างที่ตัวเองรู้สึกลงในสมุด ย้ำว่าเป็นสมุด ช่วงเวลานี้เราต้องยอมรับก่อนว่าอารมณ์ของเราอยู่เหนือเหตุผล การโพสข้อความด่าทอคนที่เคยรักเพื่อให้คนในสังคมโซเชียลมาร่วมประณามเค้าไม่ได้บอกว่าเค้าเป็นคนอย่างไร แต่บอกว่าเราเป็นคนอย่างไร หลายครั้งที่เราเองเมื่อพูดหรือโพสข้อความไปตามอารมณ์ก็มาเสียใจทีหลัง ตอนนี้เราต้องรู้ตัวเองว่าอารมณ์ของเรามันความเข้มข้นสูงและพุ่งสูงมาก การเขียนระบายความในใจของตัวเองในสมุดจดแล้วเอาไปขยำทิ้งหรือเผาทิ้งทำให้สบายใจขึ้นได้ในแง่ของจิตวิทยา เหมือนกับว่าเราได้ทิ้งความรู้สึกเหล่านั้นและเผาความรู้สึกเหล่านั้นทิ้งไป
  4. ตระหนักได้ว่าความสัมพันธ์นี้สอนอะไรเราบ้าง หลายคนเคยกล่าวไว้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วเป็นเรื่องดีเสมอ หน้าที่ของเราคือ หาให้เจอว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสอนอะไรเราบ้าง เราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากเหตุการณ์นี้ เราได้ค้นพบตัวตนของตัวเองในแง่มุมใดบ้างในความสัมพันธ์ที่ผ่านมา หากว่ามีบางอย่างที่เรามองข้ามไปหรือพลาดไปเช่นนั้นแล้วเราเรียนรู้มัน เราจะไม่ต้องทำผิดซ้ำสอง เราจะไม่ต้องเลือกคนรักที่มีนิสัยคล้าย ๆ คนรักเดิม เราจะสามารถก้าวผ่านได้อย่างภาคภูมิใจในตัวเอง
  5. สำรวจตัวเองว่าสามารถรับมือด้วยตัวเองได้หรือไม่ การจมอยู่กับความเศร้านานเกินไป คือมากกว่า 6 เดือนในแง่ของทางการแพทย์อาจจะนำไปสู่สภาวะซึมเศร้าหรือโรคซึมเศร้าได้ หากเราไม่สามารถก้าวผ่านได้ด้วยตัวเอง ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อขอความช่วยเหลือ หรือนักจิตวิทยา เพราะหลาย ๆ ครั้งเมื่อมีอะไรเกิดขึ้นกับเรา เรามักจะมองสิ่งเหล่านั้นและเหตุการณ์เหล่านั้นจากแค่มุมมองของเรา หากไปพบผู้เชี่ยวชาญอาจจะสามารถรับมือกับความรู้สึกตัวเองได้มากขึ้นและได้มุมมองใหม่ ๆ กลับมา

การรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของความสัมพันธ์หรืออื่น ๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการยอมรับและอยู่กับความจริงให้ได้ ความจริงก็คือความจริงอยู่วันยังค่ำ เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความจริงได้ และการสร้างโลกอีกใบขึ้นมาหลอกตัวเองก็ไม่ Healthy ต่อสุขภาพจิตของเรา ทุกข้อที่กล่าวมาคือคำแนะนำง่าย ๆ ที่สามารถทำได้