ละครบุพเพสันนิวาสถือเป็นละครย้อนยุค คอมมาดี้ เรื่องเด่นเรื่องดังในยุค ที่เป็นเรื่องราวข้ามภพข้ามชาติ ไปยังยุคพระนารายณ์มหาราช สมัยอยุธยา ที่เนื้อหาเข้มข้น กระชับ เข้าใจง่าย เข้าถึงได้ง่าย ทำให้ได้เรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ไทย เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทย – ฝรั่งเศส ยังรวมไปถึงประวัติของบุคคลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น พระนารายณ์มหาราช หลวงสุรสาคร ออกญาโหราธิบดี ท้าวทองกีบม้า เป็นต้น
ซึ่งถือว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ที่ละครดังถูกนำกลับมาฉายใหม่ หลังจากที่ละครจบไปไม่นาน และออกอากาศอยู่ในปัจจุบัน (พฤษภาคม 2561) หากใครยังไม่เคยดูในครั้งแรก วันนี้เราเลยขอนำคำไทยโบราณในละครมาให้รู้ก่อน จะได้ไม่งงกัน
ออเจ้า ตามจดหมายเหตุลาลูแบร์ ของชาวฝรั่งเศส ระบุว่าใช้เรียกแทนบุคคลที่ 3 ที่มีฐานะต่ำกว่า หรืออายุน้อยกว่า แต่หากระหว่างการจีบกันระหว่าง เกศสุรางค์กับคุณพี่หมื่นนั้น แรก ๆ ก่อนจะหวานกัน จะใช้คำแทนกันว่า ออเจ้า กับคุณหมื่นมาโดยตลอด แต่เมื่อปิ้งกัน จะปรับเปลี่ยนคำเรียกกันมาเป็น น้อง กับคุณพี่แทน
เว็จ หรือ ห้องน้ำในปัจจุบัน มีลักษณะเป็นส้วมหลุม ให้นั่งยอง ๆ มีไม้หรือหินพาดให้เหยียบระหว่างทำธุระ จะมีใช้เพียงคนในสังคมชั้นสูงเท่านั้น
เทื้อคาเรือน ใช้แทนกับหญิงสาวที่ไม่ได้แต่งงาน เมื่อถึงวัยที่จะต้องแต่งงานออกเรือนแล้ว หรือคำในปัจจุบันที่เรียกว่า สาวขึ้นคาน หรือสวยคานทองนั้นเอง
ม้ากระทืบโรง/หัวล่อดังม้าล่อ หรือ ม้าดีดกระโหลด คือการแสดงกิริยาไม่เรียบร้อย ไม่สมเป็นกุลสตรีไทย เดินไม่เรียบร้อย พูดจาเสียงดัง ทำตัวไม่น่ารักในสมัยก่อนจะถูกเอ็ดว่าม้ากระทืบโรงได้
ถูกเอ็ด/โดนเอ็ด หมายถึง การโดนดุ เมื่อทำอะไรซน ๆ แปลก ๆ หรือทำของเสียหายโดยไม่ระวัง จนผู้ใหญ่ดุ หรือพูดเตือน สั่งสอน
วาจาเชือดเชือน หมายถึง คำพูดที่พูดกระทบต่อจิตใจผู้ฟังทั้งทางตรงและทางอ้อม
ฟะรังคี หมายถึงชาวต่างชาติ หรือคำว่า ฝรั่งในปัจจุบัน
ชะม้ายชายตา หมายถึง กิริยาการอมยิ้มเอียงอาย ส่งสายตายโปรยเสน่ห์ให้ผู้ชาย
5 บาท 10 บาท ในสมัยก่อนใช้แทนการบอกเวลา 5 บาทหมายถึง ครึ่งชั่วโมง 10 บาทหมายถึง 1 ชั่วโมง
เพลาชาย หมายถึงช่วงเวลาบ่ายโมงตรง
ลางที หมายถึง บางที บางครั้ง
สาวหาว หมายถึงหาบคาย โอหัง วาจาก้าวร้าวกับผู้ใหญ่
จิตวิปลาส หมายถึง การกระทำที่ผิดแปลก หรือในสมัยนี้ถูกแทนด้วยคำว่า บ้า นั่นเอง
อึกตะปือนัง หมายความว่า เยอะ ล้นหลาม หรือจำนวนมาก
เสาะท้อง หมายถึง อาการท้องร่วงหรือท้องเสีย
ทะเวน หมายถึง เดินทางไปทั่ว ๆ หรือตระเวน
สู่รู้ หมายถึง การอวดรู้ ทำเป็นรู้เรื่องราวต่าง ๆ แต่ความจริงแล้วไม่รู้เรื่องดังกล่าวเลย
แชเชือน หมายถึง การพูดจาแชเชือน ไม่ตรงกับความเป็นจริง กลับไปกลับมา หรือในปัจจุบันแทนว่า การแถ
ภาษาไทยในแต่ละยุคแต่ละสมัยจะมีเอกลักษณ์ เสน่ห์เป็นของตัวเอง และสามารถสังเกตได้ว่า ภาษาไทยของเรานั้นมีวิวัฒนาการทางภาษามาในทุกยุคทุกสมัย รับอิทธิพลจากภาษาตะวันตก ภาษาพื้นบ้านบ้าง แม้แต่ภาษาเพื่อนบ้านเราก็ยังมี แต่ไม่ว่าจะในยุคไหน ๆ ภาษาถือเป็นสิ่งสวยงาม และช่วยให้เราสื่อสารได้เข้าใจกันนั่นเอง