“เขื่อนแตก” มหันตภัยร้ายที่ไม่อาจมองข้ามได้ สาเหตุที่ทำให้เขื่อนแตกมีอะไรบ้าง

ในช่วงฤดูปลายฝนต้นหนาวนั้น ทำให้มีฝนตกชุกและมีน้ำป่าไหลหลากเป็นจำนวนมาก ซึ่งในประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรน้ำ แต่ก็มีในบางพื้นที่ที่เป็นพื้นที่แห้งแล้งและต้องการน้ำเพื่อนำไปใช้ทางด้านเกษตรกรรมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งทำให้มีเขื่อนต่าง ๆ เกิดขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้มีน้ำท่วม หรือมีพื้นที่ที่แห้งแล้งมากเกินไป และนอกจากประเทศไทยแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศลาวก็มีเขื่อนไว้ใช้ด้วยเช่นกัน เมื่อไม่นานมานี้ในช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2561 ที่ผ่านมา มีข่าวจากประเทศสาธารณะรัฐประชาชนลาวรายงานว่า เขื่อนในประเทศลาวแตกทำให้มีน้ำไหลท่วมทะลักในหมู่บ้านของชาวบ้านหลายหลังคาเรือน และเกิดเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่มีผู้เสียหายและเสียชีวิตจำนวนหลายคน ซึ่งจากสถานการณ์ข่าวนี้ทำให้มีหลายประเทศยื่นมือเข้าไปให้ความช่วยเหลือและให้กำลังใจกันอย่างล้นหลาม ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เขื่อนแตกนั้นมีหลากหลายสาเหตุซึ่งแบ่งตามสาเหตุหลักได้ดังต่อไปนี้คือ

  1. น้ำป่าไหลหลาก ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาหลักที่ไม่ว่าในประเทศใดก็ตามย่อมเกิดขึ้นได้ เพราะฤดูกาลของโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากโลกมีภาวะที่ร้อนขึ้น ทำให้อุณหภูมิของโลกนั้นไม่คงที่ ซึ่งทำให้เกิดภัยพิบัติได้บ่อยครั้งขึ้น
  2. ฝนตกทุกวันจนน้ำขึ้นสูงเกิดเป็นแรงดัน และเหตุผลนี้คือเหตุผลสำคัญของการเพิ่มระดับปริมาณน้ำฝนในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนแต่ละเขื่อน ซึ่งมีไม่เท่ากัน หากอีกฝั่งหนึ่งของเขื่อนนั้นมีน้ำที่มากกว่าอีกฝั่งค่อนข้างมากแล้วล่ะก็ แน่นอนว่าทำให้เกิดแรงดันของฝายกั้นน้ำได้ และอาจเป็นสาเหตุให้เขื่อนกั้นน้ำแตกและทะลักออกมาอีกฝั่งได้
  3. แผ่นดินไหว ซึ่งสาเหตุนี้ไม่ใช่ว่าจะพบกันได้บ่อย เนื่องจากแผ่นดินไหวนั้นเกิดได้ในบางพื้นที่เท่านั้น จะเกิดในพื้นที่ที่เป็นรอยเชื่อมต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลก หรือเกิดขึ้นในบริเวณที่มีภูเขาไฟ แต่ในบางครั้งแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวนั้นสามารถขยายอาณาเขตไปในวงกว้าง ทำให้เขื่อนที่มีการก่อสร้างที่ไม่แข็งแรงหรือเขื่อนเก่า สามารถได้รับผลกระทบนั้นและทรุดตัวลงจนทำให้เขื่อนแตกได้เช่นกัน
  4. เขื่อนเก่าอยู่ในสภาพทรุดโทรมขาดการบำรุงรักษา เขื่อนบางเขื่อนนั้นไม่ได้อยู่ในความดูแลของรัฐบาล อาจจะเป็นเขื่อนที่มีขนาดเล็กของชาวบ้านทั่วไป ซึ่งทำให้ขาดการดูแลที่ทั่วถึง ย่อมทำให้เกิดความเสื่อมสภาพและเป็นสาเหตุที่ทำให้เขื่อนแตกได้ในที่สุด

ซึ่งสาเหตุดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้เขื่อนแตก และน้ำไหลทะลักมาท่วมบ้านเรือนและแหล่งทำมาหากินทางด้านการเกษตรกรรมบ่อยครั้ง ถึงแม้ว่าเขื่อนจะมีข้อดีอย่างมหาศาล แต่ก็มีความน่ากลัวอยู่บ้าง ทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณริมเขื่อนนั้นควรช่วยกันสอดส่องดูแลเป็นหูเป็นตาให้กับทางรัฐบาล ซึ่งหากเห็นความไม่ชอบมาพากลหรือสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเขื่อนแล้วล่ะก็ ให้รีบแจ้งทางศูนย์หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำงานซ่อมแซมหรือดูแลเขื่อนจะดีที่สุด

เมื่อทั่วโลกต้องประสบภาวะอุทกภัยฉับพลัน ธรรมชาติลงโทษหรือแค่ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง ?

เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่คาดไม่ถึง ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา อุทกภัยที่ปะทะมาแบบฉับพลันทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างต่อหลาย ๆ ประเทศ การเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเช่นนี้ทำเอาคนส่วนใหญ่ประเมินกันไปว่าอาจจะเป็นการลงโทษของธรรมชาติต่อมวลมนุษยชาติ ในขณะที่บางคนคิดว่าเป็นเพียงฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงเท่านั้น ซึ่งหลายประเทศต้องประสบกับภาวะน้ำท่วมกะทันหันจนไม่ทันตั้งตัว ทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก

เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้มีรายงานจากสำนักข่าวต่างประเทศว่าเกิดเหตุการณ์ระทึกขวัญที่เมืองอังการา ประเทศตุรกี โดยมีการเผยแพร่คลิปรถยนต์ร่วมร้อยคันถูกกระแสน้ำพัดพาไปกองรวมกัน และที่สำคัญรถยนต์บางคันยังมีคนอยู่ในนั้นทำให้เกิดภาพการพยายามหนีออกจากรถเพื่อเอาชีวิตรอดกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดจากการที่มีฝนตกอย่างหนักติดต่อกันถึง 3 ชั่วโมง เป็นผลให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันจนชาวเมืองต้องพากันหนีตาย

นอกจากนี้ประเทศที่คนไทยนิยมไปท่องเที่ยวอย่างประเทศญี่ปุ่น ก็ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันเมื่อไม่นานมานี้เช่นกัน โดยมีสำนักข่าวทั่วโลกได้รายงานข่าวว่าประเทศญี่ปุ่นต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติครั้งยิ่งใหญ่และร้ายแรงที่สุดในรอบ 10 ปี จากการถูกน้ำท่วมและดินโคลนถล่มบ้านเรือนจนได้รับความเสียหายกันถ้วนหน้า ซึ่งเหตุการณ์ร้ายแรงนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ชาวเมืองทางตะวันตกของประเทศญี่ปุ่นต้องได้รับผลกระทบจากบ้านเรือนพังเสียหาย โดยมียอดผู้เสียชีวิตกว่า 60 คน และบาดเจ็บกว่า 40 คน ซึ่งสำนักงานการกู้ภัยของญี่ปุ่นต้องทำงานอย่างหนักเพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ให้กับผู้ประสบภัย

หลังจากวิกฤตของประเทศญี่ปุ่นเพียง 1 เดือนก็มีการรายงานข่าวอีกว่าเกิดอุทกภัยฉับพลันในรัฐเกรละ ซึ่งเป็นรัฐทางตอนใต้ของอินเดีย ภัยธรรมชาติครั้งนี้ถือเป็นภัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเลยก็ว่าได้ เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตกว่า 300 คน และชาวเมืองกว่า 400,000 คน ต้องอพยพไปอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวที่ทางการจัดไว้ให้ ซึ่งอุทกภัยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้สืบเนื่องมาจากฤดูมรสุมช่วงต้นปีที่ผ่านมาโดยรายงานระบุว่าร่างของผู้เคราะห์ร้ายส่วนมากพบเจออยู่ใต้ซากปรักหักพังจากการถูกดินโคลนถล่ม จนภายหลังทางการอินเดียได้ประกาศให้สร้างศูนย์พักพิงชั่วคราวเนื่องจากยอดผู้ประสบภัยเพิ่มขึ้น

นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันนี้ซึ่งมีระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนจะเห็นว่ามีหลายประเทศที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากภาวะอุทกภัยฉับพลัน ถึงแม้ว่าจะมีการประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาของแต่ละประเทศเรื่องความรุนแรงของพายุและเมฆฝนล่วงหน้า แต่ทว่าหลายครัวเรือนยังคงไม่เชื่อในวิทยาศาสตร์ สำหรับประเทศไทยเองช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงที่น้ำจากแม่น้ำเหนือกำลังไหลลงสู่แม่น้ำทางภาคกลางทำให้หลายหน่วยงานต้องจับตาดูและคอยรายงานอยู่เป็นระยะ ๆ ดังนั้นประชาชนที่อยู่ตามเส้นทางน้ำก็ควรรับฟังข่าวสารและเชื่อคำเตือนจากทางการเพื่อทำการป้องกันให้ทันท่วงทีและไม่ให้เกิดการสูญเสียที่คาดไม่ถึง