การแต่งกายของผู้หญิงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดคดีข่มขืนจริงหรือ?

                ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคนที่ติดตามข่าวสารในวงการบันเทิงหรือหน้าสังคม คงจะได้เห็นดาราสาวหลาย ๆ คนออกมาพูด โพสต์ภาพ และร่วมรณรงค์ถึงประเด็นเรื่องการแต่งกายของผู้หญิง สืบเนื่องมาจากข่าวคราวการรณรงค์ให้ผู้หญิงแต่งตัวมิดชิดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อลดการก่อเหตุลวนลามและข่มขืน ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดกระแสและการเชิญชวนให้มาเรียกร้องถึงสิทธิสตรีว่าจริง ๆ แล้วการแต่งกายเป็นสิทธิส่วนบุคคลของผู้หญิงทุก ๆ คน และผู้หญิงควรจะได้รับเกียรติจากผู้ชายมากขึ้น รวมถึงผู้ชายไม่มีสิทธิที่จะมาแตะต้องหรือสัมผัสตัวของผู้หญิงได้ตามใจตัวเอง

ซินดี้ สิรินยา นำทัพเหล่าดาราเรียกร้องสิทธิของผู้หญิง

หนึ่งในดาราที่แสดงความคิดเห็น และเป็นต้นเสียงของการรณรงค์ครั้งนี้ก็คือ “ซินดี้ สิรินยา” จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย จนเธอต้องออกมาชี้แจงและทำความเข้าใจกับสังคมว่า “ถามว่าการแต่งตัวโป๊เพิ่มความเสี่ยงไหม? ก็มีส่วนค่ะ อันนี้ไม่ได้ปฏิเสธ ผู้หญิงควรระวังตัวเองในระดับหนึ่ง ผู้หญิงควรรู้จักแต่งตัวตามกาลเทศะและถูกที่ถูกเวลา วันนี้ไม่ได้มาเชิญชวนให้ผู้หญิงแต่งตัวโป๊ แต่งตัวเย้ายวนแต่อย่างใด ใครจะแต่งแบบไหนมันก็เป็นสิทธิ์ของเขา แต่ที่ออกมาพูดเพราะรู้สึกว่า ส่วนใหญ่แล้ว เวลาจะแก้ปัญหานี้ จะแก้ที่ฝ่ายผู้หญิงมากกว่าฝ่ายผู้ชาย และไม่มีการนำเสนอวิธีอื่น ๆ ที่ช่วยลดปัญหานี้เลย”

ประเด็นสิทธิสตรีที่นานาชาติต้องให้ความสำคัญ

                ความจริงแล้วประเด็นนี้ไม่ได้เป็นประเด็นที่เพิ่งได้มีการนำมากล่าวถึงในเร็ว ๆ นี้ แต่ประเด็นการแต่งกายของผู้หญิงกับคดีอาชญากรรมการข่มขืนเป็นเรื่องที่เคยถูกหยิบยกและนำมาเป็นตัวอย่างหรือกรณีศึกษากันมาแล้ว ทั้งการถกเถียงกันในเรื่องของมายาคติของการแต่งตัวโป๊ที่หมายถึงสัญลักษณ์ที่นำไปสู่อาชญากรรมในคดีข่มขืน ซึ่งในทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เรียกสิ่งนี้ว่าเป็นมายาคติที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ถึงแม้ผู้หญิงจะแต่งกายอย่างใด ผู้ชายก็ไม่มีสิทธิที่จะมาข่มขืน และประเด็นนี้ไม่ได้เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ประเด็นนี้กลายเป็นประเด็นในเกือบทุกประเทศทั่วโลก ตราบใดที่ยังมีคนที่คิดจะละเมิดสิทธิของผู้อื่น ซึ่งความจริงแล้วปัญหาควรถูกแก้จากต้นเหตุ ไม่ใช่ปลายเหตุ ซึ่งประเด็นของการแต่งกายนี้เคยได้ถูกหยิบยกมานำเสนอในนิทรรศการของมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้นำชุดและเครื่องแต่งกายของผู้หญิงที่ถูกข่มขืนมา ซึ่งชุดเหล่านั้นเป็นเพียงเสื้อผ้าธรรมดาที่ไม่ใช่เครื่องแต่งกายที่โป๊ หรือวาบหวิวแต่อย่างใด

ส่วนความคิดเห็นในเรื่องนี้ของหลาย ๆ ฝ่ายก็แน่นอนว่าย่อมมีความแตกต่างกันไป ซึ่งจริงอยู่ว่าการแต่งกายเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและกาลเทศะ รวมถึงโอกาสนั้น ๆ ด้วย