คำถามที่ควรถามตัวเองก่อนเริ่มต้นความสัมพันธ์

ในสังคมที่โลกอินเตอร์เน็ตทั้งใบอยู่ในมือเราตลอดเวลา ความเคลื่อนไหวของคนอื่นในโลกออนไลน์คือสิ่งที่หลาย ๆ คนเสพข้อมูลเข้าไปทุกวัน คนนั้นทำกิจกรรมนั้น คนนี้ทำกิจกรรมนี้ เลื่อนผ่านไทม์ไลน์เราไม่มีที่จบสิ้น การสื่อสาร การแสดงความคิดเห็น การหันด้านใดด้านนึงให้คนในโลกโซเชียลได้เห็นดูเป็นเรื่องปกติที่ใครเค้าก็ทำกัน อีกทั้งมองไปทางไหนก็เป็นคนมีคู่ จับมือถือแขน ควงแขนกันไปกินข้าว ไปเที่ยวพักผ่อนสุดสัปดาห์ ผู้คนในรูปช่างดูมีความสุข ชวนฝัน ดูทุกคนช่างสุขล้ำ   ทำให้บางครั้งรู้สึกว่าเราเองก็อยากมีประสบการณ์แบบนั้นบ้างเหมือนกัน กลายเป็นว่าแฟน คืออีกสิ่งที่จำเป็นต้องมี เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งในชีวิตของใครหลาย ๆ คน พอมองไปที่พวกเขา แล้วมองกลับมาที่ตัวเอง ทำให้หลายคนรู้สึกว่าอะไรบางอย่างมันหายไปจากชีวิต สื่อหลายที่ถึงขั้นเผยแพร่ข้อมูลว่า คนเราควรแต่งงานในช่วงอายุเท่าใดถึงจะเหล่าสม กลายเป็นชุดความคิด การเป็นข้อมูลที่บีบบังคับให้คนที่เสพสื่อโดยไม่ตั้งข้อสงสัยรู้สึกว่าตัวเอง ต้องมีให้ได้ ต้องหาให้ได้ เวลาของเราใกล้จะหมดลงแล้ว เราต้องมีเหมือนคนอื่นชีวิตจึงจะสมบูรณ์ ต้องไปขอพรจากสถานที่ต่าง ๆ กลายเป็นความกระวนกระวายและความทุกข์ ที่เราไม่เคยตั้งคำถามด้วยซ้ำ ว่าความกระวนกระวายและความทุกข์เหล่านั้น จำเป็นสำหรับเราหรือไม่

การอยากมีแฟนหรือคนรักไม่ใช่เรื่องผิดบาป เพียงแต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความต้องการนั้น เป็นความต้องการของตัวเราจริง ๆ ดังนั้น คำถามต่อไปนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อเป็นคำถามที่ทำให้เรารู้จักตัวเองและความต้องการของตัวเองมากขึ้น ก่อนที่จะทำความรู้จักอีกคนและความต้องการของอีกคน

  1. เราพร้อมไหม การเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่กับใครสักคนเราต้องถามตัวเองให้แน่ชัดว่าตัวของเราพร้อมหรือเปล่า การคบหาดูใจใช้ทั้งเวลา ความเอาใจใส่ การจัดการเวลา หากเราเรียนหรือทำงานยุ่งมากแล้วรับอีกคนเข้ามาใช้ชีวิต หากไม่เคียร์กันให้ดีกลายเป็นว่าเราไม่สามารถดูแลเค้าได้อย่างเต็มที่ กลายเป็นว่าเราไม่สามารถให้เวลากับเค้าได้อย่างเพียงพอกลายเป็นปัญหาตามมาได้ เราเองสามารถจัดการตัวเองตรงนี้ได้ไหม
  2. เราตัดใจจากคนรักเก่าได้แล้วหรือยัง ในบางสถานการณ์บางคนอาจจะอยากได้ใครสักคนเข้ามาเพื่อให้ตัวเองสามารถลืมแฟนเก่าของตัวเองได้ อยากหาใครก็ได้เพื่อมาทำหน้าที่แทน เพื่อมาเป็นตัวแทน การกระทำแบบนี้หากอีกฝ่ายรู้ว่าเค้าเป็นได้แค่ตัวแทนเท่านั้น ยังแต่จะสร้างความเจ็บปวดและปัญหาที่ซับซ้อนไม่รู้จบ กลายเป็นว่าเราเองก็เจ็บมาแล้วก็ไปทำร้ายจิตใจของคนที่เข้ามาอีกต่อหนึ่ง
  3. เราต้องการอะไรจากความสัมพันธ์ การรู้จักความต้องการที่แท้จริงของตัวเองทำให้เราสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้นเมื่อจะรับอีกคนเข้ามาในชีวิต หากคุณต้องการความสัมพันธ์ที่จริงจัง เป็นคู่ชีวิต เป็นคนที่คอยเป็นกำลังใจและมอบสิ่งดีให้กัน หากแต่อีกคนต้องการแค่คนคุยสนุกฆ่าเวลา ความต้องการของทั้งสองฝ่ายย่อมไม่ตรงกัน เราจะสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ว่าจะหาทางออกร่วมกันอย่างไร
  4. ความต้องการมีคู่เป็นความต้องการของเราจริง ๆ หรือเปล่า คำถามข้อนี้สำคัญมาก เราต้องการสร้างความสัมพันธ์กับอีกคนจริง ๆ หรือเป็นความต้องการของพ่อแม่ ที่ต้องการให้เราเป็นฝั่งเป็นฝา เป็นความกดดันของสังคมที่เฝ้าถามเราไม่หยุดว่าเมื่อไหร่จะแต่งงาน หรือเป็นความต้องการที่ว่า เรามีความสุข เราประสบความสำเร็จแล้วและเราต้องการแบ่งปันความสุขนั้นกับใครอีกคน

เมื่อเราได้ค้นพบคำตอบเหล่านี้แล้ว มันจะทำให้เราได้รู้ตัวมากขึ้นว่าเราจำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์ขึ้นมาหรือไม่ และไม่ทำให้ตัวเราไหลไปกับกระแสสังคมที่บางครั้งกระแสเหล่านั้นไม่ได้ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงในจิตใจของเรา หากพ่อแม่ต้องการให้เราแต่งงานเพียงเพราะคนข้างบ้านและเพื่อนวัยเดียวกันแต่งงานหมดแล้ว เราก็ต้องคุยกันต่อไป ปรับความเข้าใจกันต่อไปว่ามันไม่ใช่เป้าหมายหลักในการดำเนินชีวิตของเรา ช่วงเวลาในชีวิตของทุกคนไม่เหมือนกัน เราไม่สามารถเอาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นความสัมพันธ์ของคนอื่นมาเทียบกับช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับเราได้ การตอบคำถามตัวเองให้ได้ อาจจะช่วยให้เราได้พบคำตอบที่จำเป็นก่อนการตัดสินใจใด ๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันการทำร้ายจิตใจตัวเอง การทำร้ายจิตใจคนที่เรารักและรักเราได้ในอนาคต

ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ

ว่ากันว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราพบปะเพื่อนฝูง เราอาศัยอยู่กันเป็นกลุ่ม เป็นครอบครัว เราอยู่รวมกันในสังคม ระยะเวลาผ่านไปเกิดการพัฒนาของความสัมพันธ์โดยมีรูปแบบมากมาย โดยเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการ การอยู่รวมกันของมนุษย์ การได้เป็นที่รัก การได้เป็นที่ยอมรับของคนที่เรามีความสัมพันธ์อันดีด้วย แต่การมีความสัมพันธ์เหล่านั้นดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเราจริงไหม

  1. ไม่มีความเชื่อใจซึ่งกันและกัน ในเรื่องของความสัมพันธ์ ความเชื่อใจเป็นอีกส่วนสำคัญที่จะสามารถทำให้ความสัมพันธ์นั้นไปรอดได้ หากต่างฝ่ายต่างคอยระแวงกันและกันตลอดเวลา ไม่อาจเรียกได้ว่าความสัมพันธ์ที่มีอยู่นำความสุขใจมาให้
  2. มุกตลกที่ไม่ได้มีไว้เพื่อสร้างความสนุกสนาน จริงอยู่คนเราไม่มีใครสมบูรณ์แบบเป็นมนุษย์ต้นแบบที่ไร้ที่ติ เราย่อมรู้ดีว่าข้อดีของตัวเองคืออะไร ข้อเสียของตัวเองคืออะไร เรามีรูปร่างหน้าตาแบบไหน แต่การมีใครอีกคนอยู่เคียงข้าง คอยเอารูปร่างหน้าตาเรามาล้อเลียนเพื่อเรียกเสียงหัวเราะจากคนอื่น หรือเอาข้อเสียของเรามาพูดซ้ำ ๆ ย่อมไม่ใช่เรื่องที่เป็นผลดีต่อสุขภาพจิตของเรา ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น มีแต่ทำให้ความภูมิใจในตัวเอง ( Self-esteem) ของอีกฝ่ายต่ำลง
  3. อีกฝ่ายเป็นผู้รับอย่างเดียว ไม่เคยทำอะไรเพื่อเราเลย ความสัมพันธ์อันดีก่อเกิดขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพื่อแบ่งปันสิ่งดี ๆ ให้แก่กัน แบ่งปันความสุขให้แก่กัน อยู่เคียงข้างซึ่งกันและกัน หากเราเป็นผู้ให้อยู่ฝ่ายเดียวโดยไม่ได้รับอะไรกลับคืนเป็นความสัมพันธ์ที่เหมือนเรามีสัตว์เลี้ยงมากกว่าการมีคนรักคือ เราให้เค้าทุกอย่าง เราช่วยเหลือ ไปรับไปส่ง แต่เค้าไม่สามารถและไม่อยากทำแบบเดียวกัน การที่เราพยายามบอกเขาว่าเราต้องการอะไรในความสัมพันธ์เป็นเรื่องไม่มีประโยชน์เพราะอีกฝ่ายยังไงก็ไม่สนใจอยู่ดี
  4. มีความรุนแรงเกิดขึ้น ทั้งในเรื่องของร่างกายและจิตใจ โดยพื้นฐานของมนุษย์ที่สุขภาพจิตดีและมีสติอยู่กับตัวเองครบถ้วน เราจะไม่ทำร้ายตัวเอง เราจะไม่ทำร้ายคนอื่น และสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่ว่าจะเป็นร่างกายและจิตใจ หากในความสัมพันธ์เกิดการทำร้ายกันเกิดขึ้น เช่น แฟนของเราชอบพูดจาดูถูก ถากถางเราตลอดเวลา ชอบใส่ร้ายและว่าร้ายเรา เราคงต้องกลับมานั่งถามตัวเองแล้วว่า เราอยากจะมีมนุษย์คนนึงที่คอยตามเราไปทุกที่เพื่อพูดจาให้เราเจ็บช้ำน้ำใจตลอดเวลาไปทำไม คำถามไม่ใช่ว่า เขาทำร้ายเราทำไม คำถามคือ ทำไมเรายอมให้เขาทำร้ายเราซ้ำ ๆ เจ็บแต่ไม่จำ
  5. ใครคือคนผิด ทุกครั้งที่เกิดเรื่องอะไรขึ้นในความสัมพันธ์ต่างฝ่ายต่างพยายามหาคนผิด ต่างโยนความผิดกันไปมา การโต้เถียงดูเหมือนว่าจะไม่มีวันจบสิ้น หาทางออกให้กับปัญหาไม่เจอ เพราะต่างฝ่ายต่างเชื่อว่าความผิดทั้งหมดเป็นของอีกคน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบคู่รัก ความสัมพันธ์แบบเพื่อน ลูกน้องกับเจ้านาย การหาคนผิดในเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อต่อว่าอีกฝ่ายให้หนำใจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด หากอยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้นับวันยิ่งเหนื่อยล้าใจ

ทั้ง 5 ข้อที่กล่าวมาหากคนรักหรือคนที่มีความสัมพันธ์ด้วยเป็นมันคือสิ่งที่ไม่น่ารัก และมีเหตุผลร้อยล้านเหตุผลที่เรายังอยากอยู่กับคนรัก เพื่อน หรือคนในครอบครัวคนนี้อยู่ เราต้องหันหน้าคุยกันว่าเรารู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากไม่สามารถหาทางออกร่วมกันได้อาจจะต้องขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยให้เราสามารถผ่านเรื่องนี้ไปด้วยกัน