ความเหลื่อมล้ำทางด้านการเงินของคนไทย ซึ่งมีคนจนมากกว่าคนรวยหลายเท่าตัว    

ในเมืองไทยนั้นมีคนที่ประสบปัญหาความยากจนค่อนข้างมาก ดังที่มีข่าวออกมาว่าประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของผู้ที่มีคนจนและคนรวยเหลื่อมล้ำกันมากที่สุดในโลก ที่เป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ในสังคมออนไลน์ทุกวันนี้ ซึ่งในวันที่ 8, 9 และ 10 ธันวาคม 2561 นี้ทางรัฐบาลได้มีการสนับสนุนเงินให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยจำนวน 500 บาทผ่านทางบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับผู้ที่ได้ลงทะเบียนคนจนและได้รับสิทธิ์ดังกล่าว ได้แบ่งการจ่ายเงินตามหมายเลขขึ้นต้นในบัตรประชาชน จากข่าวนี้ทางรัฐบาลได้มีการหยิบยกประเด็นนี้นำไปพิจารณาเพื่อที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางการเงินของสังคมให้น้อยลง เพื่อให้คนจนและคนรวยได้มีปริมาณเท่า ๆ กัน และผลักดันให้ผู้ที่มีรายได้น้อยนั้นมีงานรองรับ และสามารถหาเลี้ยงชีพและมีรายได้เพิ่มขึ้น

วิธีลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการเงินนั้นมีดังต่อไปนี้คือ

  1. ให้การศึกษากับผู้ที่ด้อยโอกาส โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญ อย่างเช่นบนดอยหรือหลังเขา ที่จะมีเด็กเล็กในหมู่บ้านที่ไม่ได้เรียนหนังสืออีกมากมาย โดยการจัดตั้งโรงเรียนประจำหมู่บ้าน และปฏิรูปการศึกษาภายในประเทศให้มีมาตรฐานเดียวกัน และกำหนดระดับชั้นวุฒิการศึกษาขั้นต่ำที่ต้องเรียนให้เข้มงวด
  2. ให้ความรู้ทางด้านการลงทุน การออมเงินของชาวบ้านเมื่อเกษียณและเก็บเงินไว้ใช้ให้เป็นสัดส่วน ยังมีชาวบ้านอีกมากมายที่ยังขาดความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการเงินและสินทรัพย์ส่วนตัว สังเกตุได้จากเมื่อเวลาแก่ตัวลงไปแล้วจะไม่มีเงินเหลือเก็บไว้ใช้ในยามชรา ทำให้เป็นวัฏจักรที่ลูกหลานต้องเลี้ยงดู ไม่ได้นำเงินที่หามาไปทำธุรกิจให้เกิดผลประโยชน์งอกเงย และเกิดขึ้นหมุนเวียนกันไปเรื่อย ๆ ยันรุ่นลูกรุ่นหลานแบบนี้ไม่รู้จบ
  3. พัฒนาระบบเกษตรกรรมภายในประเทศด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ให้เข้าถึงในพื้นที่เกษตรกรรมถิ่นทุรกันดารและห่างไกลจากเทคโนโลยีทางการเกษตร ให้สามารถมีเครื่องมือไว้ใช้ในการทำงานได้สะดวก ซึ่งอาจเป็นเครื่องมือไว้ใช้ส่วนรวมสำหรับหมู่บ้าน หรือนำเทคโนโลยีและความรู้ต่าง ๆ ให้กับผู้นำชาวบ้านไปเผยแพร่อีกทีหนึ่ง
  4. กระจายรายได้จากสังคมเมืองสู่สังคมชนบท ให้ได้รับรายได้ทั่วถึงแม้ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งควรส่งเสริมให้ชาวบ้านมีอาชีพเสริม อาจเป็นงานฝีมือเฉพาะท้องถิ่นหรือเป็นสูตรอาหารดั้งเดิม ควรส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้ฝีมือและความรู้ความสามารถรวมทั้งทรัพยากรในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการก่อตั้งเป็นชมรมเล็ก ๆ ภายในหมู่บ้าน หรือจัดตั้งองค์กรสำหรับพัฒนาฝีมือแรงงานของชาวบ้าน และจัดตั้งให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ควรอนุรักษ์ไว้ประจำท้องถิ่นนั่นเอง

จากที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงขั้นตอนการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการเงินของสังคมไทยเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีวิธีอีกมากมายที่ช่วยให้คนไทยที่ยากจนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการทำงานประจำ รวมทั้งการทำงานพิเศษอื่นนอกเหนือจากรายได้หลักเพื่อเป็นหารายได้เลี้ยงดูครอบครัวอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งนอกจากนี้การแบ่งเวลานั้นถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งของการพัฒนาคนเพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาประเทศอีกทีหนึ่ง ดังนั้นผู้ที่มีเวลามาก สามารถใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ได้