“เขื่อนแตก” มหันตภัยร้ายที่ไม่อาจมองข้ามได้ สาเหตุที่ทำให้เขื่อนแตกมีอะไรบ้าง

ในช่วงฤดูปลายฝนต้นหนาวนั้น ทำให้มีฝนตกชุกและมีน้ำป่าไหลหลากเป็นจำนวนมาก ซึ่งในประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรน้ำ แต่ก็มีในบางพื้นที่ที่เป็นพื้นที่แห้งแล้งและต้องการน้ำเพื่อนำไปใช้ทางด้านเกษตรกรรมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งทำให้มีเขื่อนต่าง ๆ เกิดขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้มีน้ำท่วม หรือมีพื้นที่ที่แห้งแล้งมากเกินไป และนอกจากประเทศไทยแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศลาวก็มีเขื่อนไว้ใช้ด้วยเช่นกัน เมื่อไม่นานมานี้ในช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2561 ที่ผ่านมา มีข่าวจากประเทศสาธารณะรัฐประชาชนลาวรายงานว่า เขื่อนในประเทศลาวแตกทำให้มีน้ำไหลท่วมทะลักในหมู่บ้านของชาวบ้านหลายหลังคาเรือน และเกิดเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่มีผู้เสียหายและเสียชีวิตจำนวนหลายคน ซึ่งจากสถานการณ์ข่าวนี้ทำให้มีหลายประเทศยื่นมือเข้าไปให้ความช่วยเหลือและให้กำลังใจกันอย่างล้นหลาม ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เขื่อนแตกนั้นมีหลากหลายสาเหตุซึ่งแบ่งตามสาเหตุหลักได้ดังต่อไปนี้คือ

  1. น้ำป่าไหลหลาก ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาหลักที่ไม่ว่าในประเทศใดก็ตามย่อมเกิดขึ้นได้ เพราะฤดูกาลของโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากโลกมีภาวะที่ร้อนขึ้น ทำให้อุณหภูมิของโลกนั้นไม่คงที่ ซึ่งทำให้เกิดภัยพิบัติได้บ่อยครั้งขึ้น
  2. ฝนตกทุกวันจนน้ำขึ้นสูงเกิดเป็นแรงดัน และเหตุผลนี้คือเหตุผลสำคัญของการเพิ่มระดับปริมาณน้ำฝนในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนแต่ละเขื่อน ซึ่งมีไม่เท่ากัน หากอีกฝั่งหนึ่งของเขื่อนนั้นมีน้ำที่มากกว่าอีกฝั่งค่อนข้างมากแล้วล่ะก็ แน่นอนว่าทำให้เกิดแรงดันของฝายกั้นน้ำได้ และอาจเป็นสาเหตุให้เขื่อนกั้นน้ำแตกและทะลักออกมาอีกฝั่งได้
  3. แผ่นดินไหว ซึ่งสาเหตุนี้ไม่ใช่ว่าจะพบกันได้บ่อย เนื่องจากแผ่นดินไหวนั้นเกิดได้ในบางพื้นที่เท่านั้น จะเกิดในพื้นที่ที่เป็นรอยเชื่อมต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลก หรือเกิดขึ้นในบริเวณที่มีภูเขาไฟ แต่ในบางครั้งแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวนั้นสามารถขยายอาณาเขตไปในวงกว้าง ทำให้เขื่อนที่มีการก่อสร้างที่ไม่แข็งแรงหรือเขื่อนเก่า สามารถได้รับผลกระทบนั้นและทรุดตัวลงจนทำให้เขื่อนแตกได้เช่นกัน
  4. เขื่อนเก่าอยู่ในสภาพทรุดโทรมขาดการบำรุงรักษา เขื่อนบางเขื่อนนั้นไม่ได้อยู่ในความดูแลของรัฐบาล อาจจะเป็นเขื่อนที่มีขนาดเล็กของชาวบ้านทั่วไป ซึ่งทำให้ขาดการดูแลที่ทั่วถึง ย่อมทำให้เกิดความเสื่อมสภาพและเป็นสาเหตุที่ทำให้เขื่อนแตกได้ในที่สุด

ซึ่งสาเหตุดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้เขื่อนแตก และน้ำไหลทะลักมาท่วมบ้านเรือนและแหล่งทำมาหากินทางด้านการเกษตรกรรมบ่อยครั้ง ถึงแม้ว่าเขื่อนจะมีข้อดีอย่างมหาศาล แต่ก็มีความน่ากลัวอยู่บ้าง ทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณริมเขื่อนนั้นควรช่วยกันสอดส่องดูแลเป็นหูเป็นตาให้กับทางรัฐบาล ซึ่งหากเห็นความไม่ชอบมาพากลหรือสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเขื่อนแล้วล่ะก็ ให้รีบแจ้งทางศูนย์หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำงานซ่อมแซมหรือดูแลเขื่อนจะดีที่สุด

“ขยะพิษ” เข้าไทยของนายทุนต่างชาติกับค่าตอบแทนมหาศาลแต่ชาวบ้านรับผลกระทบเต็ม ๆ

                เมื่อพูดถึงขยะพิษหลายคนอาจคิดถึงขยะจำพวกสารเคมีเช่น ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า รวมทั้งสารเคมีจากโรงงาน แต่ในปัจจุบันขยะพิษนั้นยังมีชิ้นส่วนทางอิเล็กทรอนิกส์ร่วมด้วย ซึ่งขยะพิษดังกล่าวเป็นสิ่งที่มีราคาสูงโดยเฉพาะการรับซื้อเป็นจำนวนมากจากโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้บริษัทต่างชาติมองเห็นถึงผลกำไรจากขยะราคาสูงที่สามารถนำมาขายต่อได้

การรับซื้อขยะทางอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากนั้นจะต้องถูกส่งต่อมายังประเทศปลายทางเพื่อทำการแยกชิ้นส่วน และส่งขายต่อไปอีกทีหนึ่งตามประเภท โดยการแยกชิ้นส่วนต้องทำด้วยมือจากแรงงานคน ส่งผลให้สารพิษสามารถเข้าสู่ร่างกายของแรงงานเหล่านั้นได้โดยง่าย อีกทั้งชิ้นส่วนของขยะบางส่วนที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้จะต้องถูกทำลายหรือปล่อยทิ้งไว้ให้ย่อยสลายตามธรรมชาติส่งผลให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา สำนักข่าวประเทศไทยได้รายงานว่าค้นพบโรงงานแยกขยะขนาดใหญ่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งภายในโรงงานนั้นเต็มไปด้วยชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังถูกคัดแยกโดยคนงานจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยขยะพิษเหล่านี้ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนจากแผงวงจร โทรศัพท์มือถือ แบตเตอร์รี่และซีพียูจากคอมพิวเตอร์ ทางกรมมลพิษได้วัดค่าสารพิษพบว่าเกินกว่ามาตรฐานกำหนด สามารถส่งผลร้ายต่อร่างกายของผู้สูดดมให้พัฒนาไปถึงการเป็นมะเร็งได้ จากการสอบถามชาวบ้านโดยรอบพบว่าประสบกับปัญหาการสูดดมกลิ่มเหม็นจากการเผาสารเคมีของโรงงานแห่งนี้จนไม่สามารถเปิดประตูบ้านทิ้งไว้ได้เพราะกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อเด็ก ๆ และผู้สูงอายุภายในบ้าน ซึ่งชาวบ้านได้ระบุอีกว่าตนได้ทำการร้องเรียนและยื่นเรื่องต่อตำรวจจากสน.ใกล้เคียงแต่ก็ไม่เป็นผล เนื่องจากตำรวจตรวจได้แค่รอบโรงงานเท่านั้นไม่สามารถเข้าไปภายในได้

จนกระทั่งชาวบ้านทนมลพิษที่ต้องเผชิญทุกวันไม่ได้ จึงนำน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงส่งให้ห้องแล็ปเอกชนตรวจและพบว่าน้ำนั้นมีค่าตะกั่วและสารพิษอื่น ๆ เกินกว่าค่ามาตรฐาน หลังจากนั้นชาวบ้านจึงนำหลักฐานทั้งหมดที่รวบรวมไว้ได้ส่งให้กรมมลพิษขอหมายศาลเข้าตรวจโรงงานแห่งนี้และพบว่าเจ้าของโรงงานเป็นคนไต้หวันที่รับซื้อขยะอิเล็กทรอนิกส์จากโรงงานอุตสาหกรรมทั่วโลกมาพักไว้เพื่อแยกชิ้นส่วนที่ไทยโดยผ่านการขนส่งทางเรือในน่านน้ำไทย ซึ่งได้ให้การเป็นเท็จต่อเจ้าหน้าที่ขนส่งว่าเป็นเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์จนสามารถผ่านการตรวจสอบเข้ามาได้

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นพิษเหล่านี้ก็คือสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนโดยรอบที่ต้องทนอยู่กับสภาพแวดล้อมและอากาศที่เป็นพิษทำให้เกิดโรคเรื้อรังที่รักษาเป็นเวลานานก็ยังไม่หาย ดังนั้นเมื่อหน่วยงานทางภาครัฐได้รับการร้องเรียนเรื่องมลพิษจากชาวบ้านก็ควรเข้าไปตรวจสอบอย่างจริงจังเพื่อไม่ให้มลพิษเหล่านั้นลุกลามเป็นวงกว้างจนคร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก

 

เมื่อทั่วโลกต้องประสบภาวะอุทกภัยฉับพลัน ธรรมชาติลงโทษหรือแค่ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง ?

เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่คาดไม่ถึง ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา อุทกภัยที่ปะทะมาแบบฉับพลันทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างต่อหลาย ๆ ประเทศ การเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเช่นนี้ทำเอาคนส่วนใหญ่ประเมินกันไปว่าอาจจะเป็นการลงโทษของธรรมชาติต่อมวลมนุษยชาติ ในขณะที่บางคนคิดว่าเป็นเพียงฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงเท่านั้น ซึ่งหลายประเทศต้องประสบกับภาวะน้ำท่วมกะทันหันจนไม่ทันตั้งตัว ทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก

เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้มีรายงานจากสำนักข่าวต่างประเทศว่าเกิดเหตุการณ์ระทึกขวัญที่เมืองอังการา ประเทศตุรกี โดยมีการเผยแพร่คลิปรถยนต์ร่วมร้อยคันถูกกระแสน้ำพัดพาไปกองรวมกัน และที่สำคัญรถยนต์บางคันยังมีคนอยู่ในนั้นทำให้เกิดภาพการพยายามหนีออกจากรถเพื่อเอาชีวิตรอดกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดจากการที่มีฝนตกอย่างหนักติดต่อกันถึง 3 ชั่วโมง เป็นผลให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันจนชาวเมืองต้องพากันหนีตาย

นอกจากนี้ประเทศที่คนไทยนิยมไปท่องเที่ยวอย่างประเทศญี่ปุ่น ก็ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันเมื่อไม่นานมานี้เช่นกัน โดยมีสำนักข่าวทั่วโลกได้รายงานข่าวว่าประเทศญี่ปุ่นต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติครั้งยิ่งใหญ่และร้ายแรงที่สุดในรอบ 10 ปี จากการถูกน้ำท่วมและดินโคลนถล่มบ้านเรือนจนได้รับความเสียหายกันถ้วนหน้า ซึ่งเหตุการณ์ร้ายแรงนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ชาวเมืองทางตะวันตกของประเทศญี่ปุ่นต้องได้รับผลกระทบจากบ้านเรือนพังเสียหาย โดยมียอดผู้เสียชีวิตกว่า 60 คน และบาดเจ็บกว่า 40 คน ซึ่งสำนักงานการกู้ภัยของญี่ปุ่นต้องทำงานอย่างหนักเพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ให้กับผู้ประสบภัย

หลังจากวิกฤตของประเทศญี่ปุ่นเพียง 1 เดือนก็มีการรายงานข่าวอีกว่าเกิดอุทกภัยฉับพลันในรัฐเกรละ ซึ่งเป็นรัฐทางตอนใต้ของอินเดีย ภัยธรรมชาติครั้งนี้ถือเป็นภัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเลยก็ว่าได้ เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตกว่า 300 คน และชาวเมืองกว่า 400,000 คน ต้องอพยพไปอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวที่ทางการจัดไว้ให้ ซึ่งอุทกภัยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้สืบเนื่องมาจากฤดูมรสุมช่วงต้นปีที่ผ่านมาโดยรายงานระบุว่าร่างของผู้เคราะห์ร้ายส่วนมากพบเจออยู่ใต้ซากปรักหักพังจากการถูกดินโคลนถล่ม จนภายหลังทางการอินเดียได้ประกาศให้สร้างศูนย์พักพิงชั่วคราวเนื่องจากยอดผู้ประสบภัยเพิ่มขึ้น

นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันนี้ซึ่งมีระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนจะเห็นว่ามีหลายประเทศที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากภาวะอุทกภัยฉับพลัน ถึงแม้ว่าจะมีการประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาของแต่ละประเทศเรื่องความรุนแรงของพายุและเมฆฝนล่วงหน้า แต่ทว่าหลายครัวเรือนยังคงไม่เชื่อในวิทยาศาสตร์ สำหรับประเทศไทยเองช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงที่น้ำจากแม่น้ำเหนือกำลังไหลลงสู่แม่น้ำทางภาคกลางทำให้หลายหน่วยงานต้องจับตาดูและคอยรายงานอยู่เป็นระยะ ๆ ดังนั้นประชาชนที่อยู่ตามเส้นทางน้ำก็ควรรับฟังข่าวสารและเชื่อคำเตือนจากทางการเพื่อทำการป้องกันให้ทันท่วงทีและไม่ให้เกิดการสูญเสียที่คาดไม่ถึง

 

ปรากฎการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 กับความรู้ใหม่ที่ชาวกรุงฯ ก็ไม่เคยรู้

ในช่วงต้นปีที่ผ่านมามีปรากฏการณ์ที่ชวนตกใจของชาวกรุงเทพฯ ที่ต่างเฮกันว่า กรุงเทพฯ มีหมอก ประจวบกับช่วงนั้นอากาศของกรุงเทพฯ เย็นลงอีกด้วยด้วย แต่แท้ที่จริงแล้วนักวิชาการได้ออกมาระบุว่า ที่เราเห็นไม่ใช่หมอกแต่อย่างไร แต่เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กต่างหาก ทำให้เราได้รู้จักกับคำศัพท์ใหม่ที่เรียกว่า ฝุ่น PM2.5

PM2.5 คืออะไร

PM หรือ Particulate Matters เป็นค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ส่วน 2.5 หมายถึง 2.5 ไมครอนหรือไมโครเมตร แสดงว่า PM2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่มีขนาดเล็กมาก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมครอน ไม่สามารถมองได้ด้วยตาเปล่า ถ้าเปรียบให้เห็นภาพคือเส้นผ่านศูนย์กลางของไส้ดินสอประมาณ 500 ไมครอน เส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมประมาณ 100 ไมครอน แต่ฝุ่นละอองที่กล่าวถึงมีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนหรือเล็กกว่าไส้ดินสอ 200 เท่า หรือเล็กกว่าเส้นผม 40 เท่า

ภัยเงียบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก

โดยปกติแล้วฝุ่นละอองที่มีขนาด 5 ไมครอนขึ้นไป จะถูกขนจมูกกรองไม่ให้สามารถผ่านเข้าไปในร่างกายได้ แต่เนื่องจากฝุ่นละอองชนิด PM2.5 มีขนาดเล็กมาก จนสามารถสู่ร่างกายได้โดยง่าย อีกทั้งยังเป็นพาหะนำสารอันตรายต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นสารแคดเมียม สารปรอท โลหะหนัก ไฮโดรคาร์บอน และสารก่อมะเร็งจำนวนมาก

PM2.5 เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์หรือยานพาหนะที่ใช้งานมานานแล้ว เครื่องจักรสำหรับการก่อสร้าง การเผาป่าหรือเผาวัชพืช การเผาเชื้อเพลิง รวมไปถึงการเผาไหม้ในชีวิตประจำวันต่าง ๆ เช่น การเผาไหม้จากบุหรี่ การเผาไหม้จากการทำอาหาร เป็นต้น

การป้องกันและดูแลตัวเองจาก PM2.5

หากต้องเดินทางไปบริเวณที่มีการก่อสร้าง การจราจรที่หนาแน่น จุดที่เสี่ยงต่อการเจอฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า เป็นฝุ่นที่ขนจมูกสามารถป้องกันได้หรือไม่ ควรป้องกันด้วยการใส่หน้ากากอนามัยชนิด N95 ที่เป็นหน้ากากอนามัย ที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถป้องกันเชื้อโรคได้ดีที่สุด และป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ถึง 0.3 ไมครอน
หากจะบอกให้คนกรุงเทพฯ อยู่แต่ในบ้าน ไม่ออกไปในบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่น หรือพื้นที่เสี่ยงที่จะมีฝุ่นละอองขนาดเล็ก เห็นทีว่าจะทำได้ยาก เพราะในกรุงเทพมีแต่พื้นที่ที่ถูกประกาศว่าเป็นพื้นที่พบ PM2.5 จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเขตบางนา วังทองหลาง ริมถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี ริมถนนลาดพร้าว เขตวังทองหลาง ริมถนนพญาไท เขตราชเทวี ทุกล้วนแต่เป็นเขตที่ตั้งสถานที่ทำงานของคนกรุงเทพฯ จำนวนมาก ดังนั้นเมื่อพวกเรารู้จักกับเจ้าฝุ่นนี้แล้ว ก็ควรหันมาดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ และสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน PM2.5 ที่เป็นพาหะนำสารอันตารายต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายของเรา