“ขยะพิษ” เข้าไทยของนายทุนต่างชาติกับค่าตอบแทนมหาศาลแต่ชาวบ้านรับผลกระทบเต็ม ๆ

                เมื่อพูดถึงขยะพิษหลายคนอาจคิดถึงขยะจำพวกสารเคมีเช่น ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า รวมทั้งสารเคมีจากโรงงาน แต่ในปัจจุบันขยะพิษนั้นยังมีชิ้นส่วนทางอิเล็กทรอนิกส์ร่วมด้วย ซึ่งขยะพิษดังกล่าวเป็นสิ่งที่มีราคาสูงโดยเฉพาะการรับซื้อเป็นจำนวนมากจากโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้บริษัทต่างชาติมองเห็นถึงผลกำไรจากขยะราคาสูงที่สามารถนำมาขายต่อได้

การรับซื้อขยะทางอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากนั้นจะต้องถูกส่งต่อมายังประเทศปลายทางเพื่อทำการแยกชิ้นส่วน และส่งขายต่อไปอีกทีหนึ่งตามประเภท โดยการแยกชิ้นส่วนต้องทำด้วยมือจากแรงงานคน ส่งผลให้สารพิษสามารถเข้าสู่ร่างกายของแรงงานเหล่านั้นได้โดยง่าย อีกทั้งชิ้นส่วนของขยะบางส่วนที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้จะต้องถูกทำลายหรือปล่อยทิ้งไว้ให้ย่อยสลายตามธรรมชาติส่งผลให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา สำนักข่าวประเทศไทยได้รายงานว่าค้นพบโรงงานแยกขยะขนาดใหญ่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งภายในโรงงานนั้นเต็มไปด้วยชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังถูกคัดแยกโดยคนงานจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยขยะพิษเหล่านี้ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนจากแผงวงจร โทรศัพท์มือถือ แบตเตอร์รี่และซีพียูจากคอมพิวเตอร์ ทางกรมมลพิษได้วัดค่าสารพิษพบว่าเกินกว่ามาตรฐานกำหนด สามารถส่งผลร้ายต่อร่างกายของผู้สูดดมให้พัฒนาไปถึงการเป็นมะเร็งได้ จากการสอบถามชาวบ้านโดยรอบพบว่าประสบกับปัญหาการสูดดมกลิ่มเหม็นจากการเผาสารเคมีของโรงงานแห่งนี้จนไม่สามารถเปิดประตูบ้านทิ้งไว้ได้เพราะกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อเด็ก ๆ และผู้สูงอายุภายในบ้าน ซึ่งชาวบ้านได้ระบุอีกว่าตนได้ทำการร้องเรียนและยื่นเรื่องต่อตำรวจจากสน.ใกล้เคียงแต่ก็ไม่เป็นผล เนื่องจากตำรวจตรวจได้แค่รอบโรงงานเท่านั้นไม่สามารถเข้าไปภายในได้

จนกระทั่งชาวบ้านทนมลพิษที่ต้องเผชิญทุกวันไม่ได้ จึงนำน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงส่งให้ห้องแล็ปเอกชนตรวจและพบว่าน้ำนั้นมีค่าตะกั่วและสารพิษอื่น ๆ เกินกว่าค่ามาตรฐาน หลังจากนั้นชาวบ้านจึงนำหลักฐานทั้งหมดที่รวบรวมไว้ได้ส่งให้กรมมลพิษขอหมายศาลเข้าตรวจโรงงานแห่งนี้และพบว่าเจ้าของโรงงานเป็นคนไต้หวันที่รับซื้อขยะอิเล็กทรอนิกส์จากโรงงานอุตสาหกรรมทั่วโลกมาพักไว้เพื่อแยกชิ้นส่วนที่ไทยโดยผ่านการขนส่งทางเรือในน่านน้ำไทย ซึ่งได้ให้การเป็นเท็จต่อเจ้าหน้าที่ขนส่งว่าเป็นเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์จนสามารถผ่านการตรวจสอบเข้ามาได้

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นพิษเหล่านี้ก็คือสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนโดยรอบที่ต้องทนอยู่กับสภาพแวดล้อมและอากาศที่เป็นพิษทำให้เกิดโรคเรื้อรังที่รักษาเป็นเวลานานก็ยังไม่หาย ดังนั้นเมื่อหน่วยงานทางภาครัฐได้รับการร้องเรียนเรื่องมลพิษจากชาวบ้านก็ควรเข้าไปตรวจสอบอย่างจริงจังเพื่อไม่ให้มลพิษเหล่านั้นลุกลามเป็นวงกว้างจนคร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก