ความเหลื่อมล้ำทางด้านการเงินของคนไทย ซึ่งมีคนจนมากกว่าคนรวยหลายเท่าตัว    

ในเมืองไทยนั้นมีคนที่ประสบปัญหาความยากจนค่อนข้างมาก ดังที่มีข่าวออกมาว่าประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของผู้ที่มีคนจนและคนรวยเหลื่อมล้ำกันมากที่สุดในโลก ที่เป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ในสังคมออนไลน์ทุกวันนี้ ซึ่งในวันที่ 8, 9 และ 10 ธันวาคม 2561 นี้ทางรัฐบาลได้มีการสนับสนุนเงินให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยจำนวน 500 บาทผ่านทางบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับผู้ที่ได้ลงทะเบียนคนจนและได้รับสิทธิ์ดังกล่าว ได้แบ่งการจ่ายเงินตามหมายเลขขึ้นต้นในบัตรประชาชน จากข่าวนี้ทางรัฐบาลได้มีการหยิบยกประเด็นนี้นำไปพิจารณาเพื่อที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางการเงินของสังคมให้น้อยลง เพื่อให้คนจนและคนรวยได้มีปริมาณเท่า ๆ กัน และผลักดันให้ผู้ที่มีรายได้น้อยนั้นมีงานรองรับ และสามารถหาเลี้ยงชีพและมีรายได้เพิ่มขึ้น

วิธีลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการเงินนั้นมีดังต่อไปนี้คือ

  1. ให้การศึกษากับผู้ที่ด้อยโอกาส โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญ อย่างเช่นบนดอยหรือหลังเขา ที่จะมีเด็กเล็กในหมู่บ้านที่ไม่ได้เรียนหนังสืออีกมากมาย โดยการจัดตั้งโรงเรียนประจำหมู่บ้าน และปฏิรูปการศึกษาภายในประเทศให้มีมาตรฐานเดียวกัน และกำหนดระดับชั้นวุฒิการศึกษาขั้นต่ำที่ต้องเรียนให้เข้มงวด
  2. ให้ความรู้ทางด้านการลงทุน การออมเงินของชาวบ้านเมื่อเกษียณและเก็บเงินไว้ใช้ให้เป็นสัดส่วน ยังมีชาวบ้านอีกมากมายที่ยังขาดความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการเงินและสินทรัพย์ส่วนตัว สังเกตุได้จากเมื่อเวลาแก่ตัวลงไปแล้วจะไม่มีเงินเหลือเก็บไว้ใช้ในยามชรา ทำให้เป็นวัฏจักรที่ลูกหลานต้องเลี้ยงดู ไม่ได้นำเงินที่หามาไปทำธุรกิจให้เกิดผลประโยชน์งอกเงย และเกิดขึ้นหมุนเวียนกันไปเรื่อย ๆ ยันรุ่นลูกรุ่นหลานแบบนี้ไม่รู้จบ
  3. พัฒนาระบบเกษตรกรรมภายในประเทศด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ให้เข้าถึงในพื้นที่เกษตรกรรมถิ่นทุรกันดารและห่างไกลจากเทคโนโลยีทางการเกษตร ให้สามารถมีเครื่องมือไว้ใช้ในการทำงานได้สะดวก ซึ่งอาจเป็นเครื่องมือไว้ใช้ส่วนรวมสำหรับหมู่บ้าน หรือนำเทคโนโลยีและความรู้ต่าง ๆ ให้กับผู้นำชาวบ้านไปเผยแพร่อีกทีหนึ่ง
  4. กระจายรายได้จากสังคมเมืองสู่สังคมชนบท ให้ได้รับรายได้ทั่วถึงแม้ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งควรส่งเสริมให้ชาวบ้านมีอาชีพเสริม อาจเป็นงานฝีมือเฉพาะท้องถิ่นหรือเป็นสูตรอาหารดั้งเดิม ควรส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้ฝีมือและความรู้ความสามารถรวมทั้งทรัพยากรในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการก่อตั้งเป็นชมรมเล็ก ๆ ภายในหมู่บ้าน หรือจัดตั้งองค์กรสำหรับพัฒนาฝีมือแรงงานของชาวบ้าน และจัดตั้งให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ควรอนุรักษ์ไว้ประจำท้องถิ่นนั่นเอง

จากที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงขั้นตอนการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการเงินของสังคมไทยเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีวิธีอีกมากมายที่ช่วยให้คนไทยที่ยากจนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการทำงานประจำ รวมทั้งการทำงานพิเศษอื่นนอกเหนือจากรายได้หลักเพื่อเป็นหารายได้เลี้ยงดูครอบครัวอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งนอกจากนี้การแบ่งเวลานั้นถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งของการพัฒนาคนเพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาประเทศอีกทีหนึ่ง ดังนั้นผู้ที่มีเวลามาก สามารถใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ได้

“ครูเป็นหนี้” เพราะกู้ง่ายเกินไปสนองความต้องการทางสังคมจนไร้วินัยการเงิน

อาชีพครูบาอาจารย์ถือว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติทางสังคมและครูที่ดีก็มักจะได้รับการเคารพยกย่องจากนักเรียน ผู้ปกครองและบุคคลรอบข้าง ทำให้เกิดการแข่งขันสูงตั้งแต่การเริ่มต้นเข้าสู่วงการครู ซึ่งครูทุกคนจะต้องสอบแข่งขันโดยมีผู้เข้าร่วมแข่งขันทั่วประเทศเพียงเพื่อชิงเก้าอี้ครูไม่กี่ตำแหน่ง แต่กลับกันอาชีพมีเกียรตินี้ได้รับค่าตอบแทนแรกเริ่มค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น ๆ ซึ่งกว่าจะสามารถขอเพิ่มเงินเดือนได้นั้นครูต้องมีผลงานไปเสนอต่อหน่วยงานการศึกษาที่ตนสังกัดเพื่อให้ได้รับการพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนและเลื่อนตำแหน่ง โดยในแต่ละครั้งจะต้องใช้เวลาหลายปีสำหรับการเตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการนี้ อีกทั้งประเทศไทยเป็นสังคมระบบอุปถัมภ์ ผู้ใดที่มีผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลังมักจะได้อยู่ในจุดที่ตนต้องการง่ายขึ้นกว่าคนปกติ

หลายคนอาจสงสัยว่าเพราะเหตุใดอาชีพครูในเมืองไทยจึงเป็นอาชีพที่มีหนี้สินมากกว่าอาชีพอื่น ดังที่กล่าวไปแล้วว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่มีเกียรติและได้รับความเชื่อถือจากสังคม ส่งผลให้การทำธุรกรรมต่าง ๆ นั้นง่ายกว่าอาชีพอื่นโดยธนาคารมักจะปล่อยสินเชื่อให้บรรดาครูเหล่านี้ได้กู้เพื่อนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ประกอบกับเงินเดือนขั้นต่ำของครูซึ่งถือเป็นฐานเงินเดือนที่น้อยกว่าอาชีพอื่น ๆ ทำให้ครูต้องพึ่งการกู้หนี้ยืมสินเป็นประจำ อีกทั้งการเข้าสังคมเป็นเรื่องที่สำคัญกับคนบางกลุ่มที่ประกอบอาชีพนี้ ดังนั้นการกู้หนี้ยืมสินจึงกลายเป็นเรื่องธรรมดาและครูหลายคนจึงเป็นผู้ชำนาญด้านการกู้

เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมากลุ่มวิชาชีพครูรวมตัวกันกว่า 100 คน เพื่อประกาศปฏิญญามหาสารคาม เรียกร้องให้รัฐบาลและธนาคารออมสินพักหนี้ของตนในโครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป พร้อมประกาศให้ลูกหนี้ ช.พ.ค. ทั่วประเทศกว่า 400,000 คน ร่วมกันหยุดการชำระหนี้กับธนาคารออมสินตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้

เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ครูเหล่านี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากสังคมไม่ว่าจะเป็นสังคมทั่วไปหรือสังคมออนไลน์ ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ว่าบุคคลนั้นจะประกอบอาชีพใดเมื่อทำการกู้สินเชื่อมาแล้วต้องชำระคืนตามสัญญาซึ่งรวมทั้งดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันไว้ มิฉะนั้นก็ควรถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยเฉพาะบุคลากรทางการศึกษาซึ่งต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีเพื่อให้สมแก่การเป็นต้นแบบแก่สังคมต่อไป

จากการวิจารณ์ของสังคมทำให้หน่วยงานทางภาครัฐต้องออกมาเคลื่อนไหว โดยปลัดกระทรวงยุติธรรมได้ออกประกาศเรื่องความต้องการหยุดชำระหนี้ของครู ช.พ.ค. ว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายเนื่องจากการไม่ชำระหนี้นั้นถือว่าหนีหนี้และจะต้องถูกฟ้องล้มละลายและหมดสภาพการเป็นข้าราชการ

ไม่ว่าบุคคลนั้น ๆ จะประกอบอาชีพใดสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือการทำสิ่งที่ถูกกฎหมาย โดยเฉพาะบุคลากรทางการศึกษาที่จะต้องปฏิบัติตนเป็นต้นแบบที่ดีแก่สังคมเพื่อไม่ให้เกิดการเอาเยี่ยงอย่างในการหาข้ออ้างเพื่อกระทำผิดกฎหมายต่อไป

 

เงินดิจิตอล ค่าเงินยุคใหม่ ที่คนไทยกำลังตื่นกระแส

เงินดิจิตอลคือค่าเงินที่ไม่มีหน่วยงานใด ๆ เข้ามากำกับดูแล กำหนดมูลค่าตายตัว มีมูลค่าขึ้นลงตามการซื้อขาย หรือเรียกง่าย ๆ ว่าตามความต้องการในตลาด ซึ่งแตกต่างกับค่าเงินในปัจจุบัน เช่น ค่าเงินบาทถูกควบคุมค่าเงินโดยธนาคารแห่งประเทศไทย

เงินดิจิตอลถูกคิดค้นขึ้นสกุลแรกคือ Bitcoin

                Bitcoin ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2552 โดยนักพัฒนาชาวญี่ปุ่น ใช้นามแฝงว่า Satoshi Nakkamoto ใช้ SHA-256 เป็นเครื่องมือในการเข้ารหัสสกุลเงินเอาไว้ และเมื่อมีคนขุดพบก็สามารถนำ Bitcoin ที่ได้ไปใช้ทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้

หากจะยกตัวอย่างง่ายๆ  คือ นาย Satoshi ได้ตั้งโจทย์คณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนเอาไว้มาก ๆ ด้วยใช้เครื่อง SHA-256 เป็นอุปกรณ์ในการสร้างโจทย์ (คอมพิวเตอร์ประมวลผลและคิดโจทย์ได้รอบครอบกว่ามนุษย์แต่ นาย Satoshi เป็นคนกำหนดรูปแบบเบื้องต้นของโจทย์) และเมื่อได้โจทย์แล้วก็ปล่อยให้ผู้ที่สนใจเข้ามาแก้ไขโจทย์ หากแก้โจทย์ได้ก็จะได้รับ Bitcoin นั้น ๆ ไปใช้เหมือนสกุลเงินทั่วไปบนโลกออนไลน์

โดย Bitcoin ถูกผลิตขึ้นมาเพียง 21 ล้าน Bitcoin เท่านั้น โดยใน 1 Bitcoin ยังแบ่งย่อยเป็นอีก 100 ล้าน Satoshi อีกด้วย นั้นหมายความว่าในการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ขึ้นมาหากได้โจทย์ง่ายอาจจะได้รับรางวัลเพียง 1 Satoshi ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของ Bitcoin เท่านั้น

และหาก Bitcoin ถูกขุดหรือถูกแก้โจทย์ปัญหาจนหมดแล้วละก็ ต่อไปคือส่วนของการเทรด (Trade) เท่านั้น นั่นคือการซื้อขาย Bitcoin และราคาขึ้นลงตามราคาตลาดตามความต้องการที่มีมากหรือน้อย ไม่มีธนาคารกลางหรือคนกลางมาควบคุมมูลค่าของ Bitcoin แต่ถึงในปัจจุบันการขุดพบของ Bitcoin ยังไม่ครบทั้งหมด 21 ล้าน Bitcoin แต่ก็มีนักลงทุนส่วนมากที่ใช้การเทรด (Trade) เป็นการซื้อหรือเกร็งกำไรจากสกุลเงินดิจิตอลที่ชื่อว่า Bitcoin

เงินดิจิตอลในปัจจุบันมีหลายสกุล

เงินดิจิตอลในปัจจุบันมีหลากหลายสกุลเงินในปัจจุบันมากกว่า 20 สกุลเงิน แต่มีหลักการและวิธีการคล้าย ๆ กับ Bitcoin ทั้งหมด แตกต่างกันที่ผู้สร้าง รูปแบบการได้มา และมูลค่าความต้องการของตลาด เช่น Ethereum (ETH) เปิดตัวในปี 2014, Ripple (XRP) ที่ถูกเปิดตัวในปี 2014 เช่นเดียวกัน แต่มีความต่างจากสกุลเงินอื่น เนื่องจากไม่มีการขุดใด ๆ แต่อาศัยการเพิ่มมูลค่าด้วยการเทรดเท่านั้น

การใช้หรือการจัดเก็บสกุลเงินดิจิตอล

หากคุณมีเงิน 10,000 บาท คุณต้องการนำไปฝากธนาคาร คุณต้องมีสมุดเงินฝาก และนำเงินจำนวน 10,000 บาทไปธนาคารพร้อมกับสมุดเงินฝาก เพื่อนำเงินเข้าบัญชีของคุณ ทางธนาคารจะลงบันทึกว่าในบัญชีของคุณมีเงินจำนวน 10,000 บาท

ในทางกลับกันสกุลเงินดิจิตอลจะเปิดให้คุณสามารถสร้าง Address หรือเลขที่บัญชีของคุณ ได้ผ่านทางหน่วยงานกลางที่คุณไว้วางใจจะเข้าไปเปิดกระเป๋าเงินไว้กับเขา หน่วยงานกลางเปรียบเสมือนธนาคารในโลกแห่งดิจิตอลนั่นเอง

เมื่อคุณมีเลขที่บัญชีหรือ Address เรียบร้อยแล้ว คุณสามารถโอนเงินสกุลปัจจุบันของคุณ (เงินบาท) เข้าไปยังสกุลเงินดิจิตอลของคุณได้ โดยผ่านการซื้อในรูปแบบของการเทรด เพื่อให้ได้สกุลเงินดิจิตอลเข้ามาในบัญชีของคุณ และเมื่อคุณต้องการซื้อของด้วยสกุลเงินดิจิตอล เพียงแค่คุณเลือก Address  หรือเลขบัญชีดิจิตอลปลายทาง ก็สามารถโอนเงินค่าของไปยังปลายทางได้แล้วนั่นเอง

สกุลเงินดิจิตอลเป็นเรื่องใหม่ที่ถูกคิดค้น และพัฒนามาตามเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามทุกการลงทุนคือความเสี่ยง ก่อนการตัดสินใจลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้มั่นใจก่อนลงทุน แม้ว่าสกุลเงินดิจิตอลจะไม่ได้รับผลกระทบจากข่าวสารบ้านเมืองโดยตรง แต่มูลค่าของสกุลเงินนี้มีขึ้นและลงไม่แตกต่างกับสกุลเงินที่สามารถจับต้องได้ในปัจจุบัน

 

วันนี้คุณเริ่มวางแผนทางการเงินของคุณแล้วหรือยัง ?

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ยังเลื่อนลอย ไม่ได้วางแผนชีวิต หรือไร้การวางแผนทางการเงิน เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ควรจะเริ่มทำ ยิ่งเริ่มทำเร็วยิ่งดีต่อตัวคุณ การวางแผนทางการเงินช่วยให้คุณรวยได้ ทำให้คุณรู้ถึงความสามารถในการใช้เงินได้อย่างดี ถ้าการวางแผนนั้นเป็นการวางแผนที่ดีและเป็นแผนที่ถูกต้อง แต่หากการวางแผนนั้นเป็นไปอย่างไม่ดี แต่อย่างน้อยที่สุด ก็ช่วยให้คุณไม่เป็นหนี้ได้ เพราะการวางแผน การตรวจสอบสถานะภาพทางการเงินอยู่เสมอ เป็นเรื่องที่ควรทำ เพราะไม่เช่นนั้น ภาวะการเป็นหนี้จะอยู่ใกล้ตัวคุณเป็นอย่างมาก

สัญญาณเตือนสภาวะการเป็นหนี้

หากคุณมีลักษณะการใช้เงินแบบที่จะกล่าวดังต่อไปนี้ แสดงว่าคุณเสี่ยงที่จะเป็นหนี้ในอนาคต หากไม่วางแผน หรือมีการจัดการที่ดี กับการใช้เงินของคุณในปัจจุบัน

  1. เริ่มหยิบเงินออมออกมาใช้จนเกินความจำเป็น เงินออมควรเก็บไว้สำหรับใช้ในกรณีที่จำเป็นจริง ๆ หากมีการหยิบเงินออมมาใช้ ถือเป็นสัญญาณเตือนเล็ก ๆ ให้กลับมาทบทวนตัวเองว่า คุณใช้เงินเกินความสามารถที่จะหามาหรือไม่
  2. ผ่อนชำระหนี้เป็นแบบขั้นต่ำ การผ่อนขั้นต่ำอาจทำให้เกิดหนี้ที่สูงขึ้นตามมาในอนาคต เพราะอาจจะสร้างความเคยชินกับการเป็นหนี้ได้ อาจทำให้เกิดอาการ “เสียน้อยเสียมาก เสียยากเสียง่าย”
  3. ใช้เงินเดือนชนเดือน เงินที่ได้รับมาต้นเดือน เมื่อเวลาผ่านไปถึงกลางเดือนก็เห็นยอดเงินในบัญชีที่น้อยลง จนแทบจะไม่พอถึงปลายเดือนที่เหลืออีก 10 – 15 วัน
  4. เริ่มยืมเงินผู้อื่น หากไม่มีเงินออมหรือไม่มีเงินเก็บสำหรับกรณีฉุกเฉิน เมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินต้องใช้เงินด่วน เช่นมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือพ่อแม่เข้าโรงพยาบาล จนต้องใช้เงินก้อนโต ทำให้ต้องหยิบยืมผู้อื่น
  5. ยืมเงินจากก้อนที่หนึ่งเพื่อไปใช้หนี้อีกที่หนึ่ง นั้นหมายถึงว่าคุณกำลังก่อหนี้เพิ่มขึ้น เนื่องด้วยดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งสองทาง
  6. มีบัตรเครดิตหลายใบ และมีจำนวนบัตรเพิ่มขึ้นเสมอ ๆ การจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต คือ การนำเงินอนาคตมาใช้ในการซื้อของ จ่ายก่อนแล้วหาเงินมาจ่ายภายหลัง หากมีวินัยในการชำระหนี้ ก็ถือเป็นการใช้บัตรในทางที่ถูก แต่หากวางแผนผิด อาจทำให้เกิดหนี้ก้อนโตได้ในอนาคต

หากคุณกำลังใช้ชีวิตตรงตามข้อใดข้อหนึ่งที่กล่าวมา ควรกลับมาตรวจสอบว่าคุณกำลังใช้เงินเกินความสามารถในการหาเงินหรือไม่ แนวทางที่วันนี้ขอนำเสนอมี 2 ข้อคือ

1.จดบันทึกรายรับรายจ่ายในแต่ละวัน เพื่อนำมาดูย้อนหลังว่า เงินของเราถูกนำไปใช้กับอะไรบ้าง สิ่งไหนเยอะที่สุด และสิ่งไหนสามารถลดได้บ้าง ในปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นหลากหลายตัวที่สามารถจดบันทึกและแสดงผลเป็นข้อมูลการใช้เงินให้ได้โดยง่าย

2.แบ่งเงินเป็นก้อนสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจน เช่น ในแต่ละเดือนมีเงินสำหรับช้อปปิ้ง 10% ของเงินเดือนทั้งหมด 20% เป็นเงินเก็บออมสำหรับสร้างผลกำไร 20% ของเงินเดือนเป็นเงินออมสำหรับกรณีฉุกเฉิน 50% ของเงินเดือนเป็นเงินสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน

การวางแผนดี และรัดกุมในวันนี้ ต่อให้เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในอนาคต ก็สามารถจัดการได้อย่างสบาย ปลอดหนี้แน่นอน

 

สังคมไร้เงินสด เทรนด์การเงินในยุคอนาคต

เมื่อเทคโนโลยีทันสมัย เริ่มรุกแทนที่สิ่งเก่า ๆ และเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในทุก ๆ เรื่องของการดำเนินชีวิต ไม่เว้นแม้แต่เรื่องใหญ่อย่างเรื่องการเงินและการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าต่าง ๆ ที่ในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมากจากในยุคอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเอาเทคโนโลยีที่เรียกว่า ระบบการเงินอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้งานเพิ่มมากขึ้น รวมถึงยังมีการคาดการณ์กันว่าในอนาคตหลาย ๆ ประเทศระบบการเงินจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมไร้เงินสดแทบทั้งหมด

สังคมไร้เงินสด คือ อะไร

                สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) คือ สังคมที่ไม่มีการใช้เงินสดเลย เหมือนอย่างเช่นที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน แต่สังคมหรือระบบการเงินในลักษณะนี้จะเป็นการนำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ เพื่อให้การรับเงินหรือการจ่ายเงินเป็นไปได้โดยผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งระบบการเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เริ่มทำให้สังคมเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่า “สังคมไร้เงินสด” ที่เราเริ่มเห็นกันแล้วในปัจจุบัน ก็คือการนำเอา QR Code มาใช้ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการจ่ายเงิน ด้วยการใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตสแกนเข้าไป เพื่อเป็นการชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการต่าง ๆ รวมไปถึงการจ่ายเงินหรือการทำธุรกรรมออนไลน์ในรูปแบบอื่น ได้แก่ ระบบธนาคารออนไลน์ ด้วยการโอนเงิน ชำระเงิน ชำระบิล ค่าบริการต่าง ๆ ด้วยระบบธนาคารออนไลน์ หรือแอปพลิเคชัน หรือการชำระเงินผ่านทางบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตโดยไม่ต้องมีการกดเงินสดออกมาฝาก โอน ชำระค่าสินค้าบริการแต่อย่างใด

ประเทศต่าง ๆ เริ่มปรับตัวใช้ระบบการเงินอิเล็กทรอนิกส์

                เห็นได้ว่าหลายประเทศในโลกเริ่มมีการนำเอาระบบการเงินอิเล็กทรอนิกส์ และได้มีการปรับเปลี่ยนระบบการเงินการธนาคารเพื่อเข้าสู่สังคมไร้เงินสดกันมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ประเทศจีนที่ได้นำเอาระบบการเงินอิเล็กทรอนิกส์มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ ผ่านทางแอปพลิเคชันของค่ายการเงินออนไลน์ยักษ์ใหญ่ 2 ค่าย คือ Alipay ของ Alibaba และ We Chat Pay ของค่าย Tencent ส่วนประเทศเบลเยียมก็ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ให้ประชาชนหันมาใช้แอปพลิเคชันในการชำระเงินมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันเบลเยียมมีอัตราการใช้ระบบการเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ปราศจากเงินสดสูงถึง 93% สำหรับประเทศไทยเราก็เริ่มมีการเชิญชวนให้ประชาชนสนใจใช้ระบบการเงินประเภทนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ระบบพร้อมเพย์ของภาครัฐ ไปจนถึงที่ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ได้มีการออกแคมเปญงดเว้นค่าธรรมเนียม เมื่อมีการทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์และแอพพลิเคชั่นของธนาคาร

ก็คงจะต้องติดตามกันต่อไปว่าเมื่อระบบการเงินการธนาคารเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคออนไลน์หรือการใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์รวมถึงการใช้บริการทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านระบบการเงินอิเล็กทรอนิกส์แทนเงินสดมากขึ้น ระบบการเงินการธนาคาร รวมถึงวิถีชีวิตของการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะเป็นเช่นไร